COVID-19

กรมประมงยัน สัตว์น้ำไทย ปลอดภัย ไร้โควิด-19 ไม่ซ้ำรอยแซลมอนจีน

สัตว์น้ำไทย ปลอดภัย ไร้โควิด-19 กรมประมงยัน คุมเข้มป้องกันการปนเปื้อนสินค้า ทั้งนำเข้า-ส่งออกยัน หลังพบเชื้อบนเขียงแล่แซลมอนในจีน 

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดี กรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีมีการเผยแพร่ข่าว พบเชื้อโควิด – 19 จากเขียงแล่ปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศ ในตลาดซินฟาตี้ กรุงปักกิ่ง จนสร้างความกังวลใจให้กับผู้บริโภค และกระทบต่อตลาดอาหารของไทย กรมประมงขอยืนยันว่า สัตว์น้ำไทย ปลอดภัย ไร้โควิด-19 สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ไร้การปนเปื้อน

สัตว์น้ำไทย ปลอดภัย ไร้โควิด-19

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทย ติดอันดับต้นๆ ในการบริโภคแซลมอน จึงขอให้ผู้บริโภคไทยมั่นใจได้ อีกทั้งปลาแซลมอนประเทศไทย ไม่ได้นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการบริโภคในลักษณะปลาดิบแต่อย่างใด โดยการนำเข้าปลาแซลมอนของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า เพื่อนำมาแปรรูปและส่งออก  และผ่านกระบวนการผลิต ที่มีการควบคุมตามมาตรฐานสากล

ดังนั้น เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่ออาหาร ที่ผลิตจากสัตว์น้ำในประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากอาหารที่ผลิตจากสัตว์น้ำ ที่ใช้บริโภคในประเทศ มีระบบการควบคุมตรวจสอบด้านสุขอนามัย ตั้งแต่เรือที่ใช้ในการทำการประมง ที่ต้องผ่านการตรวจสอบ มาตรฐานสุขอนามัย ส่วนสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP)

นอกจากนี้ สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดสด มีการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ โดยกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย สถานที่จำหน่ายอาหาร ต้องขึ้นทะเบียน และผ่านการตรวจสอบ จากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มั่นใจได้ว่า สินค้าสัตว์น้ำสดและอาหารที่แปรรูป จากที่ใช้ในการบริโภค มีระบบการตรวจสอบที่เหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยที่ดี และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

มีศักดิ์ ภักดีคง
มีศักดิ์ ภักดีคง

สำหรับสินค้าประมงส่งออก กรมประมงมีการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย ตลอดสายการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการในการแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice หรือ GMP และ Hazard Analysis Critical Control Point หรือ HACCP เพื่อให้ระบบคุณภาพของโรงงาน และผลิตภัณฑ์ เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และประเทศผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ จากประเทศไทย

ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ ไวรัส โควิด-19 ภาครัฐและผู้ประกอบการ ได้มีความร่วมมือ ที่จะเพิ่มการเฝ้าระวังป้องกัน การปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ทั้งในผลิตภัณฑ์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้

1. มีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ปฏิบัติงาน และมีมาตรการตรวจพิสูจน์เชื้อ โดยหน่วยงานสาธารณสุขของจังหวัดนั้น ๆ

2. จัดให้มีมาตรการเว้นระยะห่าง (Social distancing) ทั้งในสถานประกอบการส่วนการผลิต โรงอาหาร และส่วนบริการทั่วไปในโรงงาน รวมถึงการจัดให้มีแอลกอฮอล์ เจลสำหรับล้างมือ โดยกำหนดเป็นมาตรการที่บุคลากรทุกคน ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

3. มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบโรงงาน เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ

แซลมอน

นายมีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สัตว์น้ำโดยทั่วไป จัดเป็นสัตว์เลือดเย็น เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการระบาดวิทยา ปัจจุบันไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ว่ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำ หรือมีข้อบ่งชี้ ว่าเกิดการติดเชื้อในสัตว์น้ำได้

นอกจากนี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้รายงานการพบเชื้อก่อโรคนี้ในสุนัข แมว และค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่น และการระบาดเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ส่วนสัตว์น้ำทั่วไป ใช้เหงือกในระบบการหายใจ จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น จึงขอให้ผู้บริโภค มั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำ และขอให้เลือกรับประทานสัตว์น้ำที่มีความสด สะอาด และปรุงสุกใหม่เสมอ เพื่อสุขอนามัยที่ดี

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่ รายงานการตรวจพบผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มขึ้น 32 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 28 ราย และผู้ป่วย ที่มาจากต่างประเทศ 4 ราย

คณะกรรมการกล่าวในรายงานประจำวันว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 28 รายนั้น เป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบในกรุงปักกิ่ง 25 ราย มณฑลเหอเป่ย 2 ราย และมณฑลเหลียวหนิงอีก 1 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo