Economics

เปิดใจ ‘ดวงฤทธิ์ บุนนาค’ เผชิญดราม่า หลังคว้าออกแบบ Terminal 2 สุวรรณภูมิ

จู่ๆ วงประกวดออกแบบที่ยืดเยื้อมาเกือบ 10 เดือน ก็กลายมาเป็นดราม่าร้อนๆ ปะทุขึ้นมาระลอกใหญ่บนโลกโซเชียลทันที เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติให้นิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ  “กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค”  เป็นผู้ชนะการประกวดอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (Terminal 2) ของสนามบินสุวรรณภูมิ แม้จะได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 2

หลายคำถามจึงประเดประดังถึงคำการตัดสินที่เกิดขึ้น รวมถึงเกิดเสียงติชมเรื่องความสวยงามของผู้ชนะที่แตกต่างกันไป

ออกแบบเหมือนงานก็อป?

สวยดี แต่เหมือนเชิญให้นกมาทำรัง?

ความเป็นไทยอยู่ตรงไหน?

ดวงฤทธิ์ชนะเพราะสนิทกับกรรมการ?

 

The Bangkok Insight จึงขอสนทนากับ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์บุนนาค จำกัด สถาปนิกชื่อดังที่เป็นแกนนำกลุ่มผู้ชนะการประมูล และชื่อของเขากำลังตกเป็นเป้าถูกโจมตีบนโลกออนไลน์

ดวงฤทธิ์ บุนนาค 2

“ดวงฤทธิ์” ใส่สูทสีขรึม นั่งอยู่อีกฝากหนึ่งของโต๊ะทำงาน ตอบคำถามว่าทำไมถึงตัดสินใจร่วมลงสนามแข่งขัน และเมื่อกำชัยชนะแล้ว เขาจะตอบคำถามที่สังคมสงสัยว่าอย่างไร

ผมไม่คุ้นเคยกับการประกวดออกแบบของภาครัฐ  ไม่มี Connection ไม่มีเส้น ไม่มีสาย ไม่มีอะไรเลย

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าร่วมประกวดแบบในครั้งนี้

ต้องเรียนก่อนว่า ผมก็ไม่คุ้นเคยกับการประกวดออกแบบของภาครัฐ เรียกได้ว่าไม่มี Connection ไม่มีเส้น ไม่มีสาย ไม่มีอะไรเลย

รู้โปรเจคนี้ เพราะมีคนโทรมาถามว่า อยากเข้าประกวดแบบไหม เขากำลังหาพาร์ทเนอร์ เราเลยรู้เรื่องการประกวดแบบและโทรไปเช็คกับทาง ทอท.

เราก็ถาม ทอท. แบบซื่อๆ ว่า เราเข้าได้ไหม มีวางตัวไว้หรือยัง เราจะได้ไม่เสียเวลา เขาก็บอกไม่มี และรับประกันว่า การประกวดแบบครั้งนี้ใสสะอาดมากๆ เราก็ตัดสินใจเข้าประกวด เชื่อว่าด้วยศักยภาพของเราและทีมงานไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แล้วก็อยู่ในวิสัยที่พอทำงานได้

แล้วเผอิญ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เราได้ร่วมงานกับ Nikken Sekkei (นิเคน เซกเก) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของญี่ปุ่น โดยมีโปรเจคร่วมกันที่ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง แล้วก็คุยกันเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ของโปรเจคในเมืองไทยหลายโปรเจค ผมก็เลยเอาโปรเจคนี้ไปปรึกษาเขาว่าทำได้ไหม ผมจะไปซื้อเงื่อนไขการประมูล(TOR)

Nikken ก็บอกว่า ถ้างบประมาณขนาดนี้ไม่มีทางจ้างบริษัทต่างชาติได้หรอก เพราะว่ามันน้อยมาก คุณต้องทำเองนะ แต่เขาจะส่งทีมงานออกแบบสนามบินมาฝึกอบรมให้ โดยเขามีประสบการณ์ออกแบบสนามบินหลายแห่ง เช่น สนามบินนาริตะ เทอร์มินอล 2 และ 3  สนามบินนานาชาติคันไซ

ผมก็โอเคเพราะอยากทำ เขาก็สอนเราเรื่องการออกแบบสนามบิน มีเวิร์คช็อป 2-3 ครั้ง เราก็ระดมพล ตั้งใจทำงานเต็มที่ สเก็ตช์แบบเอง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เสาร์อาทิตย์ ไม่ได้หยุด 2 เดือนเต็ม ก็ออกมาเป็นแบบอย่างที่เห็น

เทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ 2

 การออกแบบครั้งนี้มีความยากง่ายขนาดไหน

เป็นโปรเจคที่มีความซับซ้อนมากที่สุดที่เราเคยทำ บริษัทเราก็มีคนประมาณ 50 คน ชำนาญเรื่องของการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า คอนโดมิเนียมที่พักอาศัย โรงแรม แต่สนามบินเราไม่เคยทำ

แต่ว่าหลังจากทำงานจนเสร็จแล้ว Nikken ก็บอกว่าเราทำได้ดีมาก แล้วเขาก็เชื่อว่า ถ้าเราได้ก่อสร้างตามแบบ มันจะเป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก

คอนเซปต์เรื่อง ‘ป่าไม้’ มาจากไหน

เราพัฒนามาจากระบบของสนามบินก่อน โจทย์ที่ TOR กำหนดมาคือเทอร์มินอลต้องสร้างเสร็จเร็ว เพราะวงเงินก่อสร้างไม่ได้เยอะมาก เราเลยเลือกโครงสร้างที่มีระยะห่างระหว่างเสาสั้นเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 36 เมตร X 36 เมตร เพราะโครงสร้างที่มีระยะห่างของเสายาวจะก่อสร้างยากกว่า

ลักษณะของเสาก็มีเป็นช่วงๆ มองแล้วก็ทำให้นึกถึงป่า เราเลยทำให้เสายาวขึ้นไปเป็นโครงสร้างหลังคาในตัว เหมือนเดินเข้าไปในป่า ก็เลยเป็นแนวคิดของงาน ซึ่งสอดคล้องกับวิธีที่เราวางระบบของอาคาร

เราดูโครงสร้างการออกแบบตามความเหมาะสมด้านฟังก์ชันก่อน เสร็จแล้วมันบอกใบ้ให้เราเห็นภาพอันนี้ เราก็เลยเอาแนวคิดเรื่องป่าให้มันเข้ามาสอดคล้องกัน พอทำแล้วมันก็ลงตัว สวยดี

ป่าไม้ตามคอนเซปต์นี้เป็นป่าประเภทไหน

ป่าชื้นเขตร้อน (Tropical Forest) ที่สำคัญคือระหว่างเทอร์มินอล 2 กับอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร (Airport Multiplex Building: AMB) มันมีป่าจริงๆ

เราใช้พื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางเมตรสร้างเป็นสวนอยู่ตรงกลาง ออกแบบเป็นระบบนิเวศน์แบบปิด แทบไม่ต้องดูแล แล้วก็จำลองภาวะของป่าร้อนชื้นเข้าไปในสวนนี้เลย ซึ่งเราก็รู้สึกว่าอันนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะว่าการที่อยู่ในสนามบินแล้วมองออกไปเห็นต้นไม้ มันเป็นเรื่องที่สวยงามและสบายตา

เราพยายามทำให้สวนเหมือนอยู่บนภูเขา เพราะเรากลัวว่าโถงผู้โดยสารขาออกจะมองไม่เห็นเพราะตึกมันสูงประมาณ 20 กว่าเมตร อันนี้ปลูกต้นไม้เยอะมาก คลุมโครงสร้างภูเขา มีน้ำตกแอ่งน้ำ เพื่อให้ระบบนิเวศน์ครบถ้วน และมีสัตว์บางประเภทเพื่อให้ระบบนิเวศน์อยู่ได้

เราจะมองเห็นป่าได้จากมุมไหนบ้าง

อันดับแรกคือ คนที่เข้ามาในประเทศไทย หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มารอรับกระเป๋า ก็จะเห็นสวนขนาดใหญ่อยู่ตรงนั้นเลย แล้วก็ตอนที่เดินมาจากรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ผ่านตึก AMB มาทางเทอร์มินอล หรือคนที่ลงจากรถแท็กซี่เดินข้ามมาที่เทอร์มินอล ที่สำคัญมากคือพนักงาน ทอท. ในอาคาร AMB ก็มองเห็น ทุกคนจะได้ใช้สวนอย่างเต็ม

การสร้างสวนเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมหรือมีอยู่ใน TOR

เป็นข้อเสนอที่เราทำเพิ่มเข้าไป จริงๆ TOR เขาไม่ได้กำหนดมา

เทอร์มินอล 2 ดวงฤทธิ์
                                                 สวนระบบปิดในเทอร์มินอล

แล้วใช้ไม้ประเภทไหนตกแต่งโครงสร้างอาคาร

ที่เราเสนอไปเป็นไม้ซีดาร์ ซึ่งมีในญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปตอนเหนือ ออสเตรเลีย ในต่างประเทศเขาปลูกเพื่อเอามาใช้เพื่อทำงานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ ถึงเราอาจจะมีการนำเข้าไม้มาจากต่างประเทศ แต่ก็ราคาไม่แพงมาก

ตัวผมเองก็ใช้บ่อยในการทำงานออกแบบต่างๆ ใช้กับอาคารสูง ใช้กับอาคารขนาดใหญ่ต่างๆ ก็ใช้มันแล้ว ก็มีความคุ้นเคยกับมันดี

แต่ละโซนในเทอร์มินอลมีเอกลักษณ์อย่างไรบ้าง

ส่วนที่เป็นไฮไลท์ คือ โถงผู้โดยสารขาออกที่ใช้เช็คอิน สถาปัตยกรรมจะให้ความรู้สึกสะท้อนแนวคิดเรื่องของป่า

เราเลือกใช้ไม้มาเป็นวัสดุตกแต่ง ซึ่งไม้ก็เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด เพราะเป็นวัสดุที่สร้างขึ้นใหม่ได้ คือหินก็หมดไป เหล็กก็หมดไป แต่ไม้มันสามารถปลูกใหม่ได้ แล้วเราก็เลือกใช้ไม้จากป่าปลูกอย่างเดียว เพราะฉะนั้นมันก็มีราคาไม่แพง ทำให้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่เพิ่มขึ้นแล้วไม้เองก็มีค่าพลังงานในการแปรรูปต่ำมาก

บริเวณถัดไปคือดิวตี้ฟรี ผมเองก็เคยออกแบบศูนย์การค้าอย่างเอ็มควอเทียร์มา เราก็ใช้ความรู้ที่มี ทำให้บรรยากาศ และผังของการชอปปิงจะเต็มไปด้วยการใช้งานที่ดี

การออกแบบทางเดินขาออกจะทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกมากขึ้น โดยเส้นทางจะแยกคนที่ต้องการเดินทาง กับคนที่ต้องการชอปปิง ออกจากกันชัดเจน

ถ้าคนรีบไปประตูขึ้นเครื่อง (Gate) ก็ลงบันไดเลื่อนแล้วเดินไป Gate ได้เลย ไม่ต้องเดินผ่านพื้นที่ชอปปิง แต่ถ้าคนที่มีเวลาและอยากจะชอปปิง เขาก็สามารถลงจากบันไดเลื่อนมา แล้ววนไปพื้นที่ชอปปิงที่อยู่หลังบันไดเลื่อนได้ ซึ่งการแยกเส้นทางไป Gate และพื้นที่ชอปปิงออกจากกันชัดเจน จะทำให้การสัญจรเร็วขึ้น และไม่แออัด

ไฮไลท์สำคัญอีกจุด คือ Gate ซึ่ง TOR กำหนดให้เป็นแบบ Swing Gate คือรับได้ทั้งเที่ยวบินในประเทศ และระหว่างประเทศในประตูเดียวกัน นอกจากนี้ หลุมจอดยังสามารถรองรับเครื่องบินได้หลายขนาด (Multiple Aircraft Ramping System)

อันนี้เราก็ออกแบบให้ผู้โดยสารชั้นธุรกิจ และชั้นหนึ่ง สามารถขึ้นเครื่องบินได้พร้อมกับผู้โดยสารชั้นประหยัด ซึ่งช่วยลดเวลาในการขึ้นลงของผู้โดยสารแต่ละเที่ยว โดยเฉพาะเที่ยวบินที่แน่นๆ ลดเวลาลงไปได้เกือบเท่าตัว อันนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสัญจรของผู้โดยสาร เวลาที่ใช้ในการขึ้นเครื่องบินลดลง

ที่เหลือจะเป็นรายละเอียดในการออกแบบ เช่น ตึก AMB ข้างบนจะเป็นเชิงพาณิชย์ เราจะนั่งรถไฟฟ้าอัตโนมัติผ่านพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทำให้สามารถใช้งานได้ทั้งคนที่บินและไม่บิน พนักงานก็ใช้ได้

เราสามารถทำให้ฟังก์ชันที่สลับซับซ้อน มันไม่ซับซ้อน ทำให้การสัญจรต่างๆ มันค่อนข้างตรงไปตรงมาที่สุด แล้วก็การใช้ง่าย เราเชื่อว่ามันจะลดระยะเวลาในการไปขึ้นเครื่อง หรือการต่อเครื่องของผู้โดยสาร ทำให้ประสิทธิภาพของสนามบินดีขึ้น

ดีไซน์นี้มีฟังก์ชันพิเศษอะไรอีกบ้าง

อันแรกคือเรื่องความยืดหยุ่น ถ้าสังเกตดูตัวเทอร์มินอลเดิมก็มีการดัดแปลงหลายครั้ง แต่มันค่อนข้างยาก เพราะรูปทรงมันค่อนข้างตายตัว

เรามองเห็นความจริงข้อนี้ เราก็เลยทำให้หลังคาของเราเป็นสี่เหลี่ยมหลายๆ อัน มันสามารถจะแก้ไข ขยายได้ ปรับได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตอนทำแบบไปจนถึงตอนก่อสร้างด้วย หลังจากเปิดใช้งานไปแล้วก็ดัดแปลงได้ง่าย มันก็ทำให้การวางผังรวมของอาคารยืดหยุ่นสูง

สองเรื่องของการขยายตัว เพราะอาคารของเราช่วงเสามันเป็นก้อนๆ ซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวออกมาได้อีกประมาณ 20% ถ้าเกิดมีความจำเป็นในอนาคต โดยที่รูปร่างหน้าตาอาคารมันไม่ได้เสียไป อันนี้ก็เป็นข้อดีหลักๆ เลยของอาคารที่เราออกแบบ

ปัญหาที่ผู้โดยสารพูดถึงบ่อยๆ เช่น กระเป๋ามาถึงช้า ห้องน้ำไม่พอ ตรงนี้ มีการออกแบบอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาไหม

จริงๆ เราออกแบบไปในรายละเอียดมากๆ เลย เช่น ระบบลำเลียงกระเป๋า (BHS) เราก็ออกแบบให้รถขนกระเป๋าวิ่งเข้าวิ่งออกเป็นระบบ และสอดคล้องกับรถบัสรับส่งผู้โดยสารจาก Gate ไม่ขวางทางกัน เพราะถ้าขวางทางกัน รถรับส่งผู้โดยสารจะวิ่งอ้อมไกลมาก ผมคิดว่าระบบรับส่งกระเป๋าจะดีขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ 100%

เรื่องห้องน้ำก็มีคนพูดถึงเยอะเหมือนกัน แน่ใจว่าปริมาณห้องน้ำของเราพอ และก็อยู่ในตำแหน่งที่กระจายตัวพอสมควร

ส่วนที่นั่ง ถ้าพูดถึงที่ Gate ก็คำนวณไว้มากพอ ส่วนเลาจน์ของสายการบินก็มีขนาดใหญ่มาก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม อยู่ในชั้นบนสุด และเปิดโล่งให้เห็นหลังคาข้างบน มีความโอ่โถงพอสมควรและนั่งสบาย

เทอร์มินอล 2 ดวงฤทธิ์ 4

เราคิดว่าพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีก็มีที่นั่งค่อนข้างเยอะ แล้วก็มีร้านกาแฟเหมือนในต่างประเทศ จริงๆ ก็มีที่นั่งในส่วนของร้านอาหารด้วย แต่บางทีมันไม่น่านั่ง เพราะร้านอาหารจะเข้าไปตามซอกไม่ค่อยสบายเท่าไหร่

เทอร์มินอลนี้จึงมีที่นั่งรวมกัน และสามารถซื้ออาหารมานั่งกินแบบสะดวกสบาย อาจจะนั่งรอ นั่งคุยกัน เดินคุยกัน ก็มีที่นั่งมากขึ้น

อีกอันหนึ่งที่เราทำใหม่คือ ส่วนที่เป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขาเข้า เพราะส่วนมากสถาปัตยกรรมบริเวณนี้มันน่าเบื่อมาก ไม่ได้สวยงามอะไรเลย เป็นที่ๆ ที่ทุกคนรอนาน อึดอัด ไม่สวย

ในเทอร์มินอล 2 เราเลยตั้งใจให้มันสวยในแง่สถาปัตยกรรม เป็นโปร่ง โล่ง สูง แล้วก็มีสวนอยู่ด้วย ทำให้พื้นที่ค่อนข้างสวยและเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้มาเยือน

มีคนบอกว่าการบำรุงรักษาเป็นจุดด้อยของดีไซน์นี้

เรากังวลเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำแบบ และมีหลายคนแสดงความเห็นว่า อาคารที่เราทำมันจะมีปัญหาเรื่องนกไหม ฝุ่นไหม

ทาง Nikken ก็ตอบชัดเจนมากว่า ความจริงเรื่องฝุ่นในอาคารมันไม่ควรมีตั้งแต่แรกแล้ว เพราะระบบอากาศมันควรจะสะอาด ควบคุมให้ไม่มีฝุ่นตั้งแต่แรก แล้วเราก็ออกแบบระบบปรับอากาศไม่ว่าจะเป็นระบบลมที่กดฝุ่นไว้ ไม่ให้ฟุ้งกระจาย ก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาเรื่องบำรุงรักษา

ส่วนเรื่องนก จริงๆ แล้วสนามบินเองก็ควรมีระบบป้องกันเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะว่าถ้าสนามบินมีนกคืออันตรายมาก เพราะฉะนั้นทั้งหลายทั้งมวล สนามบินไม่ควรจะมีนกอยู่แล้ว

คนที่แสดงความเห็นก็แสดงความเห็นไป แต่คนที่เขามีประสบการณ์ในการออกแบบสนามบินก็ไม่มีความกังวล เราก็ไม่ได้เชื่อในตัวเราเองหรอก เราก็เชื่อในผู้ที่มีประสบการณ์ ดูแล้วแบบไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เราก็ทำออกมาตามนั้น

เทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ 3

ถ้าก่อสร้างตามดีไซน์นี้ต้องใช้เงินเท่าไหร่

จริงๆ เราก็ได้โจทย์เรื่องงบประมาณไว้ชัดเจนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ออกแบบเราก็คิดบวกลบไว้แล้ว ส่วนที่เราลดได้ เราก็ไปทำตรงสวนป่าเพิ่ม ตอนนี้งบประมาณก่อสร้างพอดีๆปริ่มๆ อยู่ในกรอบ

อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราชนะใจกรรมการ แล้วก็ได้รับการคัดเลือก

จริงๆ ต้องเรียนว่าเราไม่ได้ชนะ คือมีอีกทีมหนึ่งได้คะแนนเยอะกว่า จริงๆ อีกทีมเขาชนะกรรมการไม่ได้รังเกียจแบบของเรา แต่เขาก็ให้เหตุผลว่า ที่เลือกอีกทีมหนึ่ง เพราะมีฟังก์ชันบางประการซึ่งดีกว่า

แต่ทีมแรกมีความผิดพลาดเรื่องการยื่นเอกสารสำคัญ ซึ่งใน TOT เขียนไว้ชัดเจนว่าขาดคุณสมบัติ ผมก็เห็นใจเขานะครับ เขาก็คงหงุดหงิดพอสมควรที่เขาไม่ได้เพราะเหตุผลนี้

ผมเห็นใจเขามากเลย แต่กรรมการเขาตัดสินใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะมันเขียนใน TOR ชัดเจนไม่งั้น ทอท. ก็ถูกตรวจสอบ ทำให้อันดับ 1 ต้องตกไป

ส่วนสิ่งที่กรรมการให้ความเห็นว่า ชอบแบบของเรา ก็มีเรื่องลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีความชัดเจน มีบุคลิกที่แตกต่างจากสนามบินอื่นๆ แล้วเขาชอบเรื่องฟังก์ชัน เรื่องความยืดหยุ่นในการขยายตัว ในการปรับเปลี่ยน

แล้วอีกหนึ่งเราเลือกวางศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า APM ไปไว้ใต้ตึก AMB จากเดิมที่ TOR กำหนดให้วางไว้บนดิน ซึ่งก็ลดระยะวางรางและประหยัดต้นทุนไปได้หลายร้อยล้านบาท

จริงๆ ก็เป็นเรื่องของดีไซน์ เรื่องของฟังก์ชัน ที่ทำให้เราได้เปรียบ ส่วนรูปร่างสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องรอง แต่เขาก็คิดว่ามันสามารถเล่าเรื่องของประเทศเราได้ เรื่องต้นไม้ เรื่องของพื้นที่สีเขียวก็เป็นเรื่องที่เขาชอบ

ตอนเขาประกาศคะแนนว่า กลุ่มดวงฤทธิ์ ได้ที่ 2 เรายอมรับไหม

หลังจากที่เราผ่านการพรีเซนต์ไปแล้ว เราก็ไม่รู้คะแนนเลย ไม่รู้ว่าเราได้ที่เท่าไหร่ ผมไปรู้ก็ตอนที่เขาเรียกไปเปิดซองราคา เขาบอกว่าเราได้ที่ 2 นะ อีกทีมได้ที่ 1 แต่ทีมได้ที่ 1 ผิดพลาดเรื่องเอกสาร เขาก็เลยเรียกเรามาเจรจา ตอนนั้นเราถึงได้รู้ว่าเราได้ที่ 2

ต้องรับฟังความคิดเห็นทุกคน  ผมเองไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่ที่กังวลอยากให้มันมาจากความจริง  การวิจารณ์ว่ารูปทรงไปเหมือนอะไร ทุกคนคิดได้ เราไม่ต่อต้าน

รู้สึกอย่างไรกับเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นหลังประกาศผลให้กลุ่มดวงฤทธิ์ชนะ

จริงๆ ทำงานระดับนี้ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นทุกคนอยู่แล้ว แล้วผมเองก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่สิ่งที่เรากังวลคือ เราอยากให้มันมาจากความจริง เช่น การที่เขาจะวิพากษ์วิจารณ์ว่ารูปทรงไปเหมือนอะไร ทุกคนคิดได้ เราไม่ต่อต้าน

แต่ถ้าเขาบอกว่าเราลอก เราก็คงไม่ได้ลอกแน่ๆ เพราะถ้าไปดูงานที่เราทำมาในอดีตทั้งหมด มันก็หน้าตาคล้ายๆ แบบนี้หลายชิ้นเหมือนกัน คือเรามีความหมกมุ่น มีความสนใจกับรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบนี้อยู่แล้ว มันก็กลับไปสืบค้นได้ว่าคุณดวงฤทธิ์แกหมกมุ่นกับเรื่องนี้อยู่แล้วมันก็มีรากและที่มาที่ไป

เช่น งานออกแบบที่โรงแรม The Naka Phuket ซึ่งเราก็ได้รางวัลจากทั่วโลก ซึ่งสังเกตดูตรงล็อบบี้ก็มีโครงสร้างไม้คล้ายๆ กัน ถ้าดูโปรเจ็คที่ผมพัฒนาที่ศรีลังกา ก็มีโครงสร้างหลังคาไม้ที่ซ้อนๆ คล้ายๆ กัน

นอกจากนี้ การพูดบางอย่างที่ไม่จริง เช่น บอกว่างานนี้จริงๆ ญี่ปุ่นทำ แล้วเราเซ็นแบบอย่างเดียว เราก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ออกแบบจริงๆ เราออกแบบ ถ้าจะด่า มาด่าเราอย่าไปด่าญี่ปุ่น เดี๋ยวเขาซวย จริงๆ ก็มีแค่ 2 เรื่องที่เรากังวล เรื่องอื่นเขาจะว่าอะไร เราฟังได้หมด

มีคนวิจารณ์ว่าดูเป็นกลิ่นไอญี่ปุ่นหรือจีน มากกว่าความเป็นไทย

จริงๆ มันไม่ได้เป็นกลิ่นไออะไรสักอย่าง แต่องค์ประกอบแบบนี้มันมีความรู้สึกของเอเซียนอยู่ มันมีทั้งจีน ทั้งญี่ปุ่น มีไทยอยู่นิดหน่อย คือลักษณะการซ้อนไม้แบบนี้ มันเป็นการประกอบกันทางสถาปัตยกรรมที่ใช้ในระแวกนี้หลายประเทศ อินเดียก็มี ไปจนถึง   อัฟริกา อันนี้มันก็ไม่ได้เป็นองค์ประกอบที่เฉพาะเจาะจงไปในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ว่ามันมีรากของหลายประเทศรวมกัน

ดวงฤทธิ์ บุนนาค

บางคนบอกว่ากลุ่มดวงฤทธิ์ ผ่านการคัดเลือก เพราะสนิทกับกรรมการบางคนจริงไหม

จริงๆ ต้องเข้าใจก่อนว่าเราแพ้ คนที่สนิทจริงๆ ถ้าจะเป็นน่าจะเป็นทีมที่ชนะ เพราะเขาได้คะแนนจากนายกสมาคมฯ ไปหมดเลย แล้วที่เรารู้ เพราะตอนที่เปิดซอง กรรมการก็บอกเราว่าเราได้ที่ 2 แล้วกรรมการที่มาจากสมาคมสถาปนิกสยามก็อธิบายว่าทำไมให้อีกทีมได้ที่ 1 เราได้ที่ 2 แต่บังเอิญคนได้ที่ 1 เขาตกเรื่องเอกสาร เราถึงได้รางวัล

เราได้ที่ 2 แล้วเราก็สนิทกับทุกคน ก็มีคนรู้จักอยู่ทุกที่ เพราะเราก็อายุมากแล้ว แต่รับประกันเลยว่าเราไม่มีการขอให้สนับสนุน ไม่มีการติดสินบนใดๆ ทั้งสิ้น แล้วทาง ทอท. ก็ไม่ได้มีการเรียกร้องเรื่องนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเป็นการประกวดแบบครั้งแรก ที่ผมประทับใจมากว่ามันสะอาดมากๆ ไม่มีการคอรัปชั่นเลย

พูดได้เลยว่าผมไม่ได้จ่ายตังค์ใครเลยสักบาทนึง เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่ต้องกังวลเรื่องนี้เลย ทุกอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมมากๆ แล้วต้องเข้าใจว่าเราได้ที่ 2 ที่เราได้เลือก เพราะที่หนึ่งเขาทำผิดพลาดเท่านั้นเอง”

จะลงนามสัญญากับ ทอท. หรือยัง

ก็จวนแล้ว นี่ก็ตามอยู่ แต่ว่าทาง ทอท. ก็มีเอกสารยืนยันแล้วว่าให้เรา ก็คงไม่มีปัญหาอะไรรอแค่การลงนามในสัญญาแค่นั้นเอง

ผมคิดว่าไม่มีประเด็นอะไรที่สามารถพูดคุยเพิ่มเติมไปได้ แล้วสิ่งที่ผู้คนพูดกันหรือแสดงความเห็นกัน ก็เป็นความรู้สึกส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องที่เราทำผิดในหลักการ แล้วเราก็ไม่มีอะไรต้องกลัว เรามาประกวดแบบนี้โครงการนี้ เราตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว

ตามกำหนดต้องใช้เวลาออกแบบรายละเอียด 10 เดือน ถือว่ากระชั้นชิดไหม

เป็นโจทย์ที่เรารู้ตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร เราก็ต้องทำให้ได้ ก็ไม่คิดว่าเป็นเงื่อนไขที่เราต้องบ่นหรือกังวลอะไร

รู้สึกอย่างไรบ้างที่งานออกแบบจะได้สร้างขึ้นจริง

รู้สึกดีใจมาก ภูมิใจมาก เราตั้งใจเต็มที่ เราอยากให้เทอร์มินัลนี้เป็นฝีมือคนไทย 100% ขอสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุด

อยากให้ผู้โดยสารที่ใช้เทอร์มินอลหลังนี้มองประเทศไทย  และสนามบินสุวรรณภูมิยังไง

จริงๆ ผมว่าอันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้พูดถึงประเทศไทยในอีกมุมมองหนึ่ง จริงๆ แล้วอาคารหลายๆ ของประเภทของรัฐ โดยเฉพาะอาคารใหญ่ๆ เราก็พูดถึงความหมายของประเทศไทยในเชิงสัญลักษณ์ค่อนข้างมาก หรือในเชิงวัฒนธรรมค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนั้นไม่มีอะไรผิด

แต่เรากำลังจะเชื้อเชิญให้มองประเทศไทยในอีกมุมมองหนึ่ง คือเรื่องของความงดงามธรรมชาติ และอยากให้รักและหวงแหนธรรมชาติ เรื่องของป่า ระบบนิเวศน์ต่างๆ ผมว่ามันก็เป็นบทสนทนาที่จะพาประเทศไปในอนาคต ก็น่าสนใจ

คิดว่าประสบการณ์คนที่มาสนามบินแห่งนี้ เขาก็จะมีความประทับใจประเทศไทย ในมุมมองของความร่มรื่น ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แล้วก็มองเป็นประเทศสิ่งที่มีนัยยะและความเข้าใจของระบบนิเวศน์ ให้มีความสมดุลที่ชัดเจนขึ้น

เทอร์มินอล ดวงฤทธิ์ บุนนาค 3

งานของเราเน้นสร้างความรู้สึกอบอุ่นของต้นไม้ คือทำเป็นเสาขึ้นไป ไปบานข้างบน แล้วก็มีแสงลอดลงมา เหมือนต้นไม้ คนเข้ามาก็ไม่ได้เห็นต้นไม้ แต่ความรู้สึกเหมือนเราเดินอยู่ในป่าใหญ่ๆ อันนี้เป็นความรู้สึกที่เราอยากจะถ่ายทอดในสนามบิน ซึ่งการถ่ายทอดความรู้สึก เป็นระดับประสบการณ์ที่มากกว่าเรื่องของความหมาย

การมองไปก็รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในป่า แล้วมองออกไปก็เห็นต้นไม้จริงๆ ผมว่ามันน่าจะเป็นที่น่าจดจำมาก สำคัญมากๆ เราอยากให้มันแตกต่างจากสนามบินสิงคโปร์ ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น แตกต่างจากสนามบินทั้งโลก

อันนี้เป็นความตั้งใจของเราในการออกแบบครั้งนี้ตั้งแต่แรก เราอยากให้สนามบินสุวรรณภูมิหน้าตาไม่เหมือนสนามบินอื่น พอมาถึงก็แน่ใจว่ามาไม่ผิดที่แน่นอน

 

Avatar photo