COLUMNISTS

มองมาเลเซีย-กรีซ แล้วเหลียวดูเรา

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1025

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวต่างประเทศรายงานเรื่อง มาเลเซีย และ กรีซ ในวันเดียวกัน คือวันที่ 21 สิงหาคม เหตุการณ์ 2 ประเทศไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่สาระนั้นเชื่อมโยงกัน โดยมี หนี้ และ เสถียรภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นประเด็นสำคัญ

debt 1500774 640

ข่าวแรกมามาจากกรีซ สื่อต่างประเทศรายงานว่า นาย เคลาส์ เรกลิง ผู้อำนวยการสำนักกลไกเสถียรภาพแห่งยุโรป หรือ อีเอสเอ็ม ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันสิ้นสุดโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบ 3 แก่กรีซ และถือเป็นการปิดฉากอย่างเป็นทางการของวิกฤติในกลุ่มยูโรโซน

ในปี 2555 กรีซอยู่ในสภาพล้มละลาย ภาระหนี้ท่วมหัวราว 3 แสนล้านยูโร หรือ 180 % ของจีดีพี และเป็นต้นเหตุให้ผิดนัดชำระหนี้จนวุ่นวายไปทั้งยุโรป ก่อนได้รับเงินกู้จาก สหภาพยุโรป (อียู) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) 3 ครั้งรวมวงเงินมากกว่า 2.89 แสนล้านยูโร โดยแลกกับเงื่อนไขต่างๆ อาทิ ดำเนินนโยบายการคลังอย่างเข้มงวดเพื่อลดตัวเลข ขาดดุล งบประมาณ ปฏิรูปเศรษฐกิจ ฯลฯ

ห้วงเวลาที่ผ่านมาถือเป็น ช่วงลำบากขอ คนกรีซเพราะต้องดำเนินชีวิตแบบพอดีๆ สวัสดิการที่รัฐเคยจัดให้ (ก่อนเกิดวิกฤติ) ถูกตัดออก กระทั่งปี 2559 ตัวเลขงบประมาณเริ่มกลับมาเป็นบวก และอัตราการว่างงานค่อยๆลดลง และฐานะการเงินของประเทศฟื้นตัวกลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง

สาเหตุที่ทำให้กรีซตกอยู่ในกับดักหนี้ มาจากการใช้จ่ายเกินตัวในหลายเรื่อง เช่น การจัดรัฐสวัสดิการ ทำนองประชานิยม การทุ่มไม่อั้นกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2547 ขณะที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เมื่อภาระหนี้สะสมจนถึงขีดสุด วิกฤติหนี้กรีซก็

อุบัติท้ายที่สุดเพื่อนำพาประเทศออกจากกับดักหนี้ ต้องยอมเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ นโยบายถูกกำหนดจากเจ้าหนี้ เหมือนไทยช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นไททางเศรษฐกิจ

อีกข่าวมาจากเพื่อนบ้านของเรา คือ ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย วัย 92 ปี เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยวาระสำคัญที่เปิดเผยคือ ขอเลื่อน 2 โครงการยักษ์ที่จีนสนับสนุนทางการเงิน คือ โครงการรถไฟสายอีสต์โคสต์ เรียลลิงค์( ECRL) ระยะทาง 688 กิโลเมตร ทอดยาวผ่านคาบสมุทรมาลายูจากฝั่งทะเลตะวันออกไปทิศเหนือ มูลค่าการลงทุน สูงสุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย คือ 5 หมื่นล้านริงกิต หรือ 4.4 แสนล้านบาท โดยประมาณ

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “วัน เบลท์ วัน โรด” ยุทธศาสตร์ที่สุดทะเยอทะยานของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และธนาคารเพื่อส่งออกและนำเข้าจีน ให้กู้ 80 % ของมูลค่าโครงการ และก่อนหน้านี้ ดร.มหาธีร์ได้ประกาศทบทวนแผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมมาเลเซีย กับสิงคโปร์มาแล้ว

ตามด้วยการการทบทวน โครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในรัฐซาบาห์ และมะละกา มูลค่าโครงการรวม 3.1 แสนล้านบาท สื่อมาเลย์รายงานอ้างคำพูด ดร.มหาธีร์ว่า “ผมเชื่อว่าจีนไม่ต้องการเห็นมาเลเซียเป็นประเทศล้มละลาย”

นับจากขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของ ดร.มหาธีร์ คือลดภาระหนี้สาธารณะที่มีอยู่ราว 1 ล้านล้านริงกิต (ราว 8 ล้านล้านบาทไทย) หรือประมาณ 65 % ของจีดีพีประเทศ

เขาระบุว่าสาเหตุที่หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งกระฉูด มาจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็น และการทุจริตในกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งมาเลเชีย หรือ วันเอ็มดีบี ของรัฐบาลชุดก่อน

สรุปคือมาเลเซียกำลังรื้อแผนการลงทุนเมกะโปรเจคขนานใหญ่ เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะการเงิน การคลัง และคุ้มค่ากับการลงทุน ของประเทศ

สำหรับประเทศไทย พื้นฐานเศรษฐกิจประเทศถือว่าแข็งแกร่งกว่าเพื่อนบ้าน หนี้สาธารณะอยู่ที่ 42 % ต่อจีดีพีเท่านั้น ภาระหนี้ต่างประเทศไม่สูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก เงินบาทจึงไม่ตกเป็นเป็นเป้าเหมือนสกุลเงินเพื่อนบ้านหลายสกุลเมื่อเกิดวิกฤติเคบับในตุรกี ซึ่งเป็นอานิสงส์จากความวุ่นวายทางการเมืองในอดีตที่ส่งผลให้รัฐบาลหลายคณะในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถก่อหนี้ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และที่สำคัญคือ ความสามารถในการบริหารวินัยการเงินการคลังของไทย

สถานการณ์ปัจจุบัน ฉายภาพเศรษฐกิจอีกมุมให้เห็นว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีจุดแข็ง แม้มีช่องโหว่เรื่องการกระจายรายได้ก็ตาม

แต่จุดแข็งจะกลายเป็นจุดเสื่อมได้ หากศึกษาจาก กรณีกรีซ และมาเลเซียที่ก่อหนี้อย่างลืมตัว ทุ่มลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยฝันว่าจะเป็นอนาคต แต่ท้ายสุดกลับมาเป็นภาระของประเทศแทน