The Bangkok Insight

เบี้ยวหนี้พุ่ง ยุคโควิดระบาด กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

​เบี้ยวหนี้พุ่ง ยุคโควิดระบาด หลังเศรษฐกิจสะเทือนหนัก ธปท.ชี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เจ้าหนี้-ลูกหนี้ มีความสำคัญกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

นางชวนันท์ ชื่นสุข ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 19 หรือ โควิด – 19  และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อควบคุมโรค ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรายได้ของภาคธุรกิจและประชาชนจำนวนมากปรับลดลง และเกิดปัญหา ​เบี้ยวหนี้พุ่ง ยุคโควิดระบาด ตามมา

​เบี้ยวหนี้พุ่ง ยุคโควิดระบาด

ทั้งนี้ ธปท. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวถึง 5.3% ในขณะที่ Bank of England ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจของอังกฤษตกต่ำที่สุดในรอบ 300 ปี โดยจะหดตัวมากถึง 14%

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โลกและเศรษฐกิจโลก ภายหลังวิกฤตจะไม่เหมือนเดิมในหลายมิติ หนึ่งในเรื่องที่จะเปลี่ยนไปคือ การผิดนัดชำระหนี้ และการฟ้องร้องคดี ที่จะมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะรายได้ของภาคธุรกิจ และครัวเรือนในหลายภาคส่วน จะปรับลดลง

ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินและลูกหนี้ ไม่สามารถที่จะปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง การปรับโครงสร้างหนี้ จึงเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น

กระบวนการไกล่เกลี่ยช่วยลดปริมาณคดีในศาล

ในภาวะที่คาดการณ์ว่า การ เบี้ยวหนี้พุ่ง ยุคโควิด นอกจากการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว “กระบวนการไกล่เกลี่ย” จะเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจอีกเรื่อง ที่แบงก์ชาติจะให้ความสำคัญในยุคหลังโควิด เพราะจะเป็นโอกาสที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ และลูกหนี้ จะสามารถหาทางออกร่วมกัน หลังจากมีการฟ้องร้องและส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล

โดยปกติแล้ว กระบวนการพิจารณาก่อนที่จะเกิดข้อยุติ อาจจะใช้เวลานาน ดังนั้น กระบวนการไกล่เกลี่ย จะช่วยลดปริมาณคดีในที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล อีกทั้งจะช่วยลดค่าเสียโอกาส และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หนี้

ผลกระทบในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ นอกจากลูกหนี้จะมีความเครียดจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ก็ไม่ได้รับการชำระหนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

ยิ่งในช่วงโควิด-19 ประชาชนจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจต้องปิดกิจการชั่วคราว พนักงานหลายคนถูกเลิกจ้าง หรืออาจได้รับเงินเดือนน้อยลง ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดข้อพิพาท ที่เกิดจากการผิดสัญญาต่างๆ จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อศาลมากขึ้น

การฟ้องบังคับคดีมีแนวโน้มสูงขึ้น

ถ้าพิจารณาข้อมูลจะเห็นว่า ที่ผ่านมาตัวเลขการฟ้องบังคับคดีในขั้นตอนของศาล ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2562 มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลทั่วประเทศรวมเกือบ 2 ล้านคดี แบ่งเป็นประเภทคดีแพ่ง 66% และคดีอาญา 34%

หากพิจารณาจากคดีทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค 5 อันดับที่มีปริมาณสูงสุดได้แก่ 1. สินเชื่อส่วนบุคคล 2. บัตรเครดิต 3. กู้ยืม 4. เช่าซื้อรถยนต์ และ 5. หนี้ กยศ.

คดีแพ่งหลังโควิด 01

นอกจากนี้ ตัวเลขข้อมูลคดีที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแพ่ง ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งด้านจำนวนคดีและมูลค่าทรัพย์สิน โดยคดีแพ่งส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาหนี้ของประชาชนรายย่อย และปัญหาหนี้จะยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและภาคเอกชนสิ้นสุดลง

การฟ้องร้องและการบังคับคดีไม่ใช่ทางแก้ปัญหา

หนี้ของประชาชนรายย่อยส่วนใหญ่ ประกอบด้วย หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้จำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือเป็นหนี้เสีย การฟ้องร้องดำเนินคดีจะเริ่มขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนทั้งหนี้เงินต้น ดอกเบี้ยค้างตามสัญญา เบี้ยปรับ และค่าธรรมเนียม

หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จะสืบหาแหล่งรายได้หรือทรัพย์ เมื่อพบว่าลูกหนี้มีรายได้หรือทรัพย์สิน ก็จะดำเนินการอายัดเงินเดือนหรือยึดทรัพย์ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะปลอดภาระ หรือติดจำนองกับสถาบันการเงินแห่งอื่น จึงมีบ่อยครั้งที่ได้ยิน “การยึดทรัพย์จำนอง” คือ การที่เจ้าหนี้ยึดบ้านที่ติดจำนองและยังคงผ่อนชำระอยู่กับสถาบันการเงินอีกแห่ง

จากนั้น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จะชำระหนี้บ้านก่อน และที่เหลือ จะนำมาชำระหนี้ตามคำฟ้อง หากเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดทรัพย์ไม่เพียงพอชำระหนี้ได้ทั้งหมด ก็จะฟ้องล้มละลาย หรือยังคงสืบทรัพย์และแหล่งรายได้ของลูกหนี้ต่อไป จนกว่าจะหมดระยะเวลาบังคับคดี

อายัด

การถูกยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือน คงไม่ทำให้ลูกหนี้รายนั้นดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นต้นทุนทางสังคม หลายส่วนงานจึงพยายามผลักดันให้เกิด กระบวนการไกล่เกลี่ย หรือ การแก้ไขหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ขึ้น ทั้งการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องดำเนินคดี การไกล่เกลี่ยในชั้นศาล เมื่อมีการฟ้องดำเนินคดีแล้ว แต่ยังไม่พิพากษา และการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์

นอกจากนี้ เรื่องที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมของกระบวนยุติธรรมในช่วงโควิด คือ “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ออนไลน์” ที่จะนำมาใช้ในศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปที่ศาล ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเดินทาง ลดความแออัดในการใช้ห้องประชุม ลดการเผชิญหน้า และยังทำให้คู่พิพาทสมัครใจและเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมากขึ้น

ในช่วงหลังวิกฤติโควิด 19 กลไกของระบบเศรษฐกิจ และระบบการเงินของประเทศ จะหมุนเวียนต่อไปได้อย่างมั่นคง เมื่อลูกหนี้สามารถประกอบอาชีพและจ่ายหนี้คืนได้ ตามกำลังความสามารถ ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีเงินเหลือเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ส่วนเจ้าหนี้ แม้ว่าเงินที่ได้รับจากการชำระหนี้อาจน้อยลงและนานขึ้น แต่ก็เป็นการรับชำระจากลูกหนี้จำนวนมากราย ทำให้ยังคงทำหน้าที่เป็น financial intermediaries ที่ดีต่อไปได้

ดังนั้น การไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องผลักดันให้สำเร็จมากขึ้น แต่หากเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงกันไม่ได้หรือการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จะเกิด lose-lose situation โดยเจ้าหนี้จะไม่ได้รับเงินคืน ลูกหนี้ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือไม่มีรถเพื่อประกอบอาชีพ เมื่อนั้นระบบเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม ของประเทศก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo