World News

‘ญี่ปุ่น’ ประกาศเริ่มทดลอง ‘วัคซีนโควิด-19’ ในมนุษย์ครั้งแรกปลายเดือนนี้

บริษัทยา ญี่ปุ่นประกาศจะทดลอง วัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ครั้งแรกปลายเดือนนี้ “ยุโรป” เดินกลยุทธ์วาง “เงินดาวน์” ผู้ผลิตวัคซีนสำเร็จ แลกสิทธิ์ซื้อตามจำนวน

วัคซีนโควิด-19

ฮิโรฟูมิ โยชิมูระ (Hirofumi Yoshimura) ผู้ว่าราชการจังหวัดโอซากา ประกาศว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มการทดลองทางคลินิกกับวัคซีนที่มีศักยภาพในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ วัคซีนโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ตอัพด้านการแพทย์ ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ พร้อมเผยว่า การทดลองครั้งนี้จะเป็นการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ครั้งแรกของประเทศ

เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลเทศบาลนครและจังหวัดโอซากาทางตะวันตกของญี่ปุ่น ซึ่งควบคุมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลในจังหวัดได้ทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทยาอันเจส (Anges Inc.) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโอซากา (Osaka University) ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19

โยชิมูระแถลงว่า การทดลองดังกล่าวจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มินายน โดยจะเริ่มทดลองกับเจ้าหน้าที่การแพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซากาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายราว 20-30 คน ก่อนจะขยายการทดลองไปยังประชาชนหลายร้อยคนภายในเดือนตุลาคม หากสามารถยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนได้แล้ว

โยชิมูระเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะผลิตวัคซีนให้แก่ประชาชน 200,000 คนภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าที่จะขออนุมัติจากรัฐบาลระหว่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงในปี 2564

“ยาและวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับโรคโควิด-19 และโอซากาได้เริ่มดำเนินการขั้นแรกแล้ว พวกเราจะต่อสู้กับไวรัส พัฒนาวัคซีน และปกป้องชีวิตของประชาชนทุกคน” เขากล่าว

ตัวเลขล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานท้องถิ่นของญี่ปุ่นเมื่อนี้ (17 มิ.ย.) ระบุว่า ญี่ปุ่นตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 43 ราย แตะที่  17,686 ราย โดยตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมผู้ป่วย 712 รายจากเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส (Diamond Princess) ซึ่งถูกกักไว้ที่ท่าเรือโยโกฮามาใกล้กับกรุงโตเกียว

ขณะที่ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่น รวมอยู่ที่ 948 ราย โดยตัวเลขดังกล่าวนับรวมถึงผู้ป่วยเสียชีวิตที่มาจากเรือสำราญแล้ว

เยอรมนีไฟเขียว บริษัทยาเคียวร์วัคทดสอบ วัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์

สถาบันวิจัยเพาล์-แอร์ลิค-อินสทิทูต (PEI) เปิดเผยว่า เคียวร์วัค (CureVac) บริษัทสัญชาติเยอรมันกลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งที่ 2 ในเยอรมนีที่ได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองทางคลินิกกับวัคซีนโควิด-19

สถาบันระบุว่าการอนุมัติดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง “มีการประเมินอย่างรอบคอบถึงผลดี-ผลเสี่ยงของวัคซีนทดลอง”

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี ประกาศความมุ่งหมายในการทุ่มเงินลงทุน 300 ล้านยูโร หรือราว 1.04 หมื่นล้านบาท ให้กับบริษัท เคียวร์วัค เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของบริษัทและโครงการต่างๆ ของบริษัท

“เทคโนโลยีของบริษัทมีศักยภาพในการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนวิธีการรักษาที่คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้และเลือกหาได้ผ่านตลาด” เพเทอร์ อัลต์ไมเยอร์ (Peter Altmaier) รัฐมนตรีกระทรวงระบุ

ข้อมูลของสถาบันระบุว่า การทดลองทางคลินิกของวัคซีนที่บริษัทพัฒนานั้น จะจัดการทดสอบกับกลุ่มทดลองอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 168 คน และท้ายที่สุดจะมีกลุ่มทดลองที่ได้รับการฉีดวัคซีน 144 คน

ข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การทดลองทางคลินิกในเยอรมนีเป็นการทดลองที่ได้รับการอนุญาตครั้งที่ 11 จากทั่วโลก เพื่อเฟ้นหาวัคซีนทดลองที่ป้องกันโรคโควิด-19 ได้

ส่วนการทดลองทางคลินิกครั้งแรกนั้นผ่านการอนุมัติโดยสถาบันเพาล์-แอร์ลิค-อินสทิทูตเมื่อเดือนเมษายน เป็นการทดสอบโครงการวัคซีนบีเอ็นที162 (BNT162) โดยไบโอเอ็นเทค (BioNTech) บริษัทเภสัชกรรมของเยอรมนี กับกลุ่มทดลองอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 200 คน

สถาบันคาดว่าจะมีการทดลองทางคลินิกในเยอรมนีอื่นๆ เกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมระบุว่า “การต่อสู้กับโรคระบาดจำเป็นต้องอาศัยวัคซีนมากกว่าหนึ่งรายการเพื่อประกันว่าเราจะมีคลังวัคซีนที่เพียงพอ”

วัคซีนโควิด-19

EU เตรียมวาง “เงินดาวน์” แลกซื้อวัคซีน

สหภาพยุโรป (EU) กำลังวางแผนเร่งการพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ด้วยข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัททางการแพทย์ที่มีแนวโน้มจะผลิตวัคซีนสำเร็จ

แถลงการณ์ระบุว่า เพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ ให้สามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว คณะกรรมาธิการยุโรปจะทำข้อตกลงกับผู้ผลิตวัคซีนแต่ละราย

คณะกรรมการจะจัดสรรค่าเทคโนโลยีแรกเข้า (Upfront Fee) ส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ผู้ผลิตวัคซีนต้องแบกรับ เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิ์ในการซื้อวัคซีนตามจำนวนที่กำหนด ในระยะเวลาที่กำหนด โดยทุนที่จัดหาให้จะถือเป็นการชำระ “เงินดาวน์” ของสมาชิกของสหภาพยุโรปสำหรับการซื้อ วัคซีนโควิด-19

วิธีนี้เป็นหนึ่งในมาตรการเยียวยาที่รวมอยู่ในกลยุทธ์วัคซีนของสหภาพยุโรป ซึ่งเอื้อให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นภายใต้กรอบการกำกับดูแลของสหภาพยุโรป เพื่อเร่งขั้นตอนการให้สิทธิ์และการให้สามารถซื้อวัคซีนที่สำเร็จได้

“วันนี้เราได้ยื่นข้อเสนอยุทธศาสตร์วัคซีนยุโรป (European Vaccine Strategy) ที่มีความสำคัญในฐานะการดำเนินการร่วมกันระดับสหภาพยุโรป โดยมีจุดประสงค์เพิ่มโอกาสให้สมาชิกทุกประเทศในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อรับรองว่าพลเมืองของเราจะได้รับวัคซีนในปริมาณที่จำเป็นและราคาที่เหมาะสม” เออร์ซูลา วอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวในแถลงการณ์ผ่านวิดีโอ

“การทำเช่นนี้ยังทำให้เรายังหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อกันและกัน ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของยุโรปแบบจับต้องได้” เธอกล่าว

วอน แดร์ ไลเอิน กล่าวว่าคณะกรรมาธิการยุโรปสนับสนุนความคิดการทำให้วัคซีนเป็นสินค้าสากลและมีราคาไม่แพง “โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่อ่อนแอที่สุดซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อให้วัคซีนมีเพียงพอสำหรับประชาชนในตลาดโลก”

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo