Politics

‘นบข.’ ไฟเขียว! โครงการประกันรายได้ชาวนาปีการผลิต 63/64

“นบข.” ไฟเขียวในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2563/2564 เพื่อช่วยเหลือชาวนา ตั้งแต่ 1 ก.ย. 63 – 31 พ.ค. 64

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563- 31 พฤษภาคม 2564 โดยให้ใช้แนวทางการดำเนินการเหมือนปีที่ผ่านมา และให้อนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์กลางราคาอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปพิจารณาราคาประกันรายได้ต่อครัวเรือน และนำกลับมาเสนอคณะกรรมการ นบข.อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลชาวนาสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอย่างแท้จริง

รัชดา186631

ส่วนมาตรการคู่ขนาน ประกอบด้วย มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/2564 ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวม 1.98 หมื่นล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 1.55 หมื่นล้านบาท โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ในอัตราชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินรวม 610 ล้านบาท

ทั้งนี้ 3 โครงการดังกล่าว คาดว่า จะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกมาสู่ตลาดมาก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก นอกจากนี้ยังมีมาตรการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อัตราสนับสนุน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท และโครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และโครงการยกระดับคุณภาพและต่อยอดด้านการตลาดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังรับทราบการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/2563 ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 – 31 พฤษภาคม 2563 จ่ายแล้ว 30 งวด จำนวน 1.1 ล้านครัวเรือน จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท และรับทราบการดำเนินการมาตรการคู่ขนาน เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก สามารถดึงอุปทานได้รวม 5.13 ล้านตัน นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบมาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิต และมาตรการการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว จ่ายเงินแล้ว มาตรการละ 4 ล้านกว่าครัวเรือน

fig 24 04 2020 05 29 42

สำหรับการผลิตข้าวทั่วโลก ปี 2563/2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 493.79 ล้านตัน เป็น 501.96 ล้านตัน ส่วนสต๊อกข้าวทั่วโลก ณ ปลายปี 2563/2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จาก 3.83 ล้านตัน เป็น 184.18 ล้านตัน โดยจีนมีสต๊อกข้าวมากที่สุด รองลงมา คือ อินเดียและไทย ส่วนภูมิภาคที่ซื้อข้าวจากไทยมากที่สุด คือ แอฟริกา 4.11 ล้านตัน ในปี 2562 สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ได้แก่ การได้รับการจัดสรรโควต้าส่งออกไปเกาหลีใต้ ปริมาณ 2.8 หมื่นตันต่อปี และการที่ญี่ปุ่นเปิดประมูลข้าวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของข้าวไทย

“นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต โดยกำชับให้กรมการข้าว หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชน รวมถึงเครือข่ายเกษตรกร ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพข้าวและการใช้พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองให้ได้อย่างกว้างขวาง” น.ส.รัชดา กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo