The Bangkok Insight

ฝ่าเคอร์ฟิว กว่า 4 หมื่นราย ในรอบ 72 วัน พบมั่วสุม ‘ดื่มสุรา-เล่นพนัน’

ฝ่าเคอร์ฟิว พุ่งกว่า 4 หมื่นราย หลังประกาศใช้เคอร์ฟิวรวม 72 วัน พบ มั่วสุมในเคหสถาน ตั้งวงดื่มสุรา เล่นการพนัน ฮึ่ม เอาจริงแก๊งซิ่งกวนเมือง

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และโฆษก ตร. เปิดเผยว่า จากการสรุปผลการปฏิบัติป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2563 รวม 72 วัน พบว่ามีการฝ่าฝืนกระทำความผิดในช่วงเคอร์ฟิว หรือ ฝ่าเคอร์ฟิว ทั้งสิ้นจำนวน 41,941 รายหรือเฉลี่ยวันละกว่า 582 ราย

ฝ่าเคอร์ฟิว

ทั้งนี้ สามารถจำแนกรายละเอียดได้ ดังนี้ ความผิดจากการออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันสมควร รวม 37,358 ราย ได้ดำเนินคดี 32,539 ราย ตักเตือน 4,819 ราย ความผิดจากการรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถาน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จำนวน 4,583 ราย ได้ดำเนินคดี 4,474 ราย ตักเตือน 109 ราย

สำหรับสาเหตุของการกระทำความผิด ในการออกนอกเคหสถาน โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันควร 3 ลำดับแรก ได้แก่

  • ออกมาทำธุระ 8,412 ราย คิดเป็นร้อยละ 25
  • เดินทางกลับที่พัก 6,718 ราย คิดเป็นร้อยละ 20
  • ขับขี่ยานพาหนะเล่น 4,290 ราย คิดเป็นร้อยละ 13
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย

ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิด ในการรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถาน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 3 ลำดับแรก ได้แก่

  • ดื่มสุรา 1,589 ราย คิดเป็นร้อยละ 39
  • เล่นการพนัน 1,231 ราย คิดเป็นร้อยละ 30
  • เสพยาเสพติด 690 ราย คิดเป็นร้อยละ 17

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน รัฐบาลจะยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาห้ามแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่จะต้องถือปฏิบัติตาม เพื่อป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด – 19 ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มมั่วสุม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ หรือการกระทำที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นต้น

 

ดังนั้น จึงขอฝากพี่น้องประชาชน ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม โดยถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆ การใช้แอปพลิเคชั่น ไทยชนะ ในการเข้ารับบริการตามสถานที่ต่างๆร วมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนด

แก๊งซิ่ง

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน กรณีกลุ่มเด็กแว้น หรือกลุ่มวัยรุ่น ที่มีการจับกลุ่มรวมตัวแข่งรถ หรือ พากันตระเวนขับขี่รถ ออกไปสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด จึงฝากเตือนไปยังผู้ที่มีพฤติการณ์ และผู้ปกครองให้เลิกกระทำและกวดขันพฤติกรรมของบุตรหลาน โดยจะดำเนินคดี ทั้งเด็ก และผู้ปกครองและผู้ที่ให้การสนับสนุนด้วย

ขณะที่มาตรการของฝ่ายความมั่นคง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับ มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 นั้น พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้สั่งการ และกำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้กับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ดังนี้

1. ดำรงความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เป็นการซ้ำเติมประชาชน เช่น การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การกู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

2. เพิ่มการตอบสนองในการแจ้งเหตุให้เพิ่มมากขึ้น ตามช่องทางการแจ้งเหตุต่างๆ  เพื่อให้ไปถึงจุดเกิดเหตุให้รวดเร็วที่สุด ให้สายตรวจร่วมและชุดตรวจร่วม เพิ่มความเข้ม ในการตั้งจุดตรวจจุดสกัด และกวดขันจับกุมอาชญากรรม เช่น การรวมกลุ่มแข่งรถในทาง การขับขี่รถขณะเมาสุรา ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ฯลฯ ซึ่งออกตามความในพ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

3. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้การปฏิบัติจะเน้นให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน คือ  ขั้นประชาสัมพันธ์  ขั้นแนะนำตักเตือน และ หากมีเจตนาไม่ปฏิบัติตาม หรือจงใจฝ่าฝืนให้จับกุมดำเนินคดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo