Economics

‘สนพ.’ ชี้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว! หลังน้ำมันคงคลังสหรัฐยังสูง

ราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มทรงตัว! แม้การผลิตมีแนวโน้มปรับตัวลง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตหลังราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว แม้การผลิตมีแนวโน้มปรับตัวลง หลัง กลุ่มโอเปก พลัสตกลงขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปเดือนกรกฎาคม 2563 และเพิ่มความเข้มงวดให้สมาชิกในการปรับลดการผลิต อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยกดดันจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตหลังราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง สัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล

ประกอบกับองค์การอนามัยโลก ออกมาแถลงเหตุการณ์พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง หลังพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย การมีผู้ติดเชื้อในสหรัฐที่พุ่งสูงมากขึ้นในกว่า 20 รัฐ ความกังวลว่าจะทำให้เกิดการระบาดรอบ 2 ส่วนปริมาณการใช้ไบโอดีเซลของไทย ได้เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 6.75% มาอยู่ที่ 5.52 ล้านลิตรต่อวัน

ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันโลก : ราคาน้ำมันดิบ (ช่วงวันที่ 8 -14 มิถุนายน 2563)

ราคาน้ำมันดิบ ดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40.73 และ 37.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.46 และ 0.57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดเชื่อมั่นว่าการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 จะช่วยชดเชยอุปสงค์น้ำมันที่หายไป ส่งผลให้ตลาดน้ำมันเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้น

• ไนจีเรียมีแผนลดการผลิตน้ำมันดิบลง 40,000 – 45,000 บาร์เรล/วัน ในกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปกพลัส (โควตาอยู่ที่ระดับ 100,000 บาร์เรล/วัน) ส่วนปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลงจากการถูกปิดแหล่งผลิตน้ำมันโดยกองกำลังติดอาวุธ หลังจากเพิ่งกลับมาผลิตที่ 300,000บาร์เรล/วัน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้หยุดดำเนินการราว 5 เดือน

• รัฐบาลสหรัฐซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 126,000 บาร์เรล สำหรับเก็บเข้าคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตภายในประเทศ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบ จะปรับตัวลดลงจาก 12.2 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2562 สู่ระดับ 11.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2563

ราคาน้ำมันดิบ

น้ำมันเบนซิน : ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45.07 และ 42.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.90 และ 3.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

• ความต้องการใช้น้ำมันในจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง มีรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 10 มิถุนายน 2563 ลดลง 0.46 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 15.35 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ส่วนรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สิ้นสุด 6 มิถุนายน 2563 ลดลง 0.71 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.95 ล้านบาร์เรล และรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในยุโรป เดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 2.9% อยู่ที่ 118.92 ล้านบาร์เรล

น้ำมันดีเซล : ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 46.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบ

• อุปสงค์น้ำมันดีเซลในมาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง ส่วนอุปทานน้ำมันดีเซลลดลง เนื่องจากโรงกลั่นหลายอยู่ในช่วงลดกำลังการผลิตหรือปิดซ่อมบำรุงประจำปี มีรายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิ้นสุด 8 มิถุนายน 2563 ลดลง 0.98 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 5.01 ล้านบาร์เรล

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.40 บาท/ดอลลาร์ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.3898 บาท/ดอลลาร์ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.47 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.46 บาท/ลิตร) ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.29 บาท/ลิตร และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.61 บาท/ลิตร

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2563 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 56,802 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 22,438 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 34,364 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 40,735 ล้านบาท บัญชี LPG -6,371 ล้านบาท)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo