Business

ลงทะเบียนเที่ยวปันสุขรอก่อน! คลังเตรียมสรุปโครงการเที่ยวฟรีสัปดาห์นี้

ลงทะเบียนเที่ยวปันสุขรอก่อน! “กระทรวงการคลัง” เตรียมสรุปทำเว็บไซต์ลงทะเบียนท่องเที่ยวสัปดาห์นี้ แจงไม่จำเป็นต้องใช้ในคราวเดียวทั้ง 5 คืน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษก กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะหารือแนวทางการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ร่วมกับธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ในเว็บไซต์ ลงทะเบียนเที่ยวปันสุข จะรวบรวมรายชื่อโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จองตรงกับโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ และจะต้องจ่ายเงินให้กับโรงแรมที่พักทันทีในอัตรา 60% เพื่อให้โรงแรมมีเงินไปหมุนเวียน ตามโครงการเราไปเที่ยวกัน ที่จะให้สิทธิ์ค่าห้องพักสูงสุดไม่เกิน 5 ห้องพักต่อคน สูงสุดไม่เกิน 5 คืน โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายให้ 40% หรือไม่เกิน 3,000 บาท ต่อคืน

ลงทะเบียนเที่ยวปันสุข

จากนั้นผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องลงทะเบียนในเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อยืนยันการเดินทางและเข้าพัก เพื่อให้ระบบโอนเงินส่วนต่าง 40% ให้กับโรงแรม และ E-Voucher ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ จำนวน 600 บาทต่อคืน แต่สูงสุดไม่เกิน 5 คืน ให้กับผู้ได้สิทธิ์ โดยผู้ใช้สิทธิ์สามารถแยกใช้สิทธิ์ต่อครั้งได้

“สิทธิ์ต่อคน 5 คืน สามารถกระจายใช้ได้ เช่น อาจจะไปพักที่หัวหิน 2 คืน และไปพักที่เชียงใหม่ 3 คืน แบบนี้ก็สามารถทำได้ แต่ขอให้อยู่ในระยะเวลาของโครงการ คือตั้งแต่เดือนก.ค.–ต.ค. (4 เดือน) เท่านั้น ระบบนี้ใครมาลงทะเบียนก่อนสามารถได้สิทธิ์ก่อน เพราะโครงการมีการจำกัดสิทธิ์อยู่ที่ 5 ล้านคืน” นายลวรณ กล่าว

ส่วนสิทธิ์ E-Voucher จำนวน 600 บาทนั้น ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้ และสามารถใช้ได้ 3 กรณี คือ

1. ร้านอาหารในโรงแรมที่เข้าพัก

2. ร้านอาหารนอกโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีทั้งร้านอาหารขนาดใหญ่ เล็ก และร้านอาหารริมทาง โดยจะมีรายชื่อในเว็บไซต์ให้ตรวจสอบ

3. การแสดงที่ต้องซื้อบัตรเข้าชม โดยการใช้สิทธิ์ E-Voucher ต้องเป็นการร่วมจ่ายกับรัฐบาล คือ รัฐบาลจ่ายให้ 40% เช่น ทานอาหารในโรงแรม 1,000 บาท ร้านอาหารจะคิดเงิน 600 บาท ส่วนอีก 400 บาทระบบจะตัดจาก E-Voucher อัตโนมัติ

ลงทะเบียนเที่ยวปันสุข

ขณะที่ การจองตั๋วสายการบิน ในโครงการเที่ยวปันสุขที่เป็นลักษณะการร่วมจ่าย (CO-PAY) จะมีสายการบินเข้าร่วมโครงการในเว็บไซด์ เป็นสายการบินทั่วไป ไม่ได้จำกัดแค่สายการบินต้นทุนต่ำ โดยรัฐบาลจะร่วมจ่ายให้ 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท และได้สิทธิ์คนเดียวครั้งเดียว

“ตอนนี้กำลังหารือกับสายการบินว่า จะสามารถจ่ายเงินในลักษณะของโรงแรมได้หรือไม่ คือจ่ายเฉพาะส่วน 60% ที่ประชาชนต้องจ่าย ส่วน 40% ที่รัฐบาลจะออกให้จะทำการโอนตรงให้กับสายการบิน หรือประชาชนรับผิดชอบจ่ายทั้งหมด 100% ก่อนและรัฐบาลจะจ่ายส่วนลดคืนให้ประชาชนโดยตรงในภายหลัง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหารือ โดยในส่วนสายการบินมีแค่ 2 ล้านสิทธิ์เท่านั้น” นายลวรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (16 มิ.ย.) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการมาตรการกระตุ้นการ ท่องเที่ยว ผ่าน 3 โครงการสำคัญตามที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอ ซึ่งจะใช้งบประมาณสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่ กรกฎาคม – ตุลาคม 2563 โดยจะต้องลงทะเบียนการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งในรายละเอียดนั้นจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

โดยโครงการแรก คือ กำลังใจ เป็นการส่งเสริมกำลังใจให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมประมาณ 1.2 ล้านคน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว ไม่เกินคนละ 2,000 บาท มีเงื่อนไขว่าต้องเดินทางท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท

โครงการสอง คือ เราไปเที่ยวด้วยกัน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พัก-โรงแรม ในอัตรา 40% ของราคาค่าห้องต่อคืน แต่สูงสุดไม่เกินคืนละ 3,000 บาท รวมทั้งสนับสนุนเงินอีก 600 บาท/ห้องพัก/คืน ผ่านการลงทะเบียนจากแอปพลิเคชัน “เป๋าตังค์” ไม่เกิน 5 คืนเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายและค่าอาหาร สถานที่ ท่องเที่ยว ในจังหวัดอื่นที่ผู้ใช้สิทธิไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท

โครงการสาม คือ เที่ยวปันสุข รัฐบาลจะสนับสนุนการเดินทางของประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ผ่านการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่ง สายการบิน รถขนส่งไม่ประจำทาง และรถเช่า โดยรัฐจะสนับสนุนในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo