World News

จีนห้ามนำเข้า ‘แซลมอน’ ยกระดับภาวะฉุกเฉินรับมือโควิด-19 ระบาดในปักกิ่ง

จีนห้ามนำเข้าแซลมอน จาก “ยุโรป” หลังถูกสงสัยเป็นต้นตอโควิด-19 แพร่ระบาด แม้นักวิชาการชี้เป็นไปได้น้อย ด้าน “ปักกิ่ง” ประกาศยกระดับภาวะฉุกเฉิน รับมือไวรัสระลอก 2

fig 17 06 2020 04 36 44

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน ซึ่งเกี่ยวโยงกับ ซินฟาตี้ ตลาดค้าส่งผลไม้ ผัก และเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเมือง ยังขยายวงกว้างออกไป

เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย. 63) มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 31 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวโยงกับตลาดซินฟาตี้เพิ่มเป็น 137 ราย นอกจากนี้มี 3 คนที่เข้าข่ายต้องสงสัย และอีก 6 คนมีผลการทดสอบเป็นบวก แต่ไม่แสดงอาการ

ด้านจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกของจีนก็มีรายงานยืนยันผู้ป่วย 1 ราย โดยเป็นผู้ค้าในตลาดซินฟ้าตี้ที่ได้รับการวินิจฉัย หลังเดินทางกลับบ้าน

เมื่อคืนที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งจึงออกคำสั่งยกระดับภาวะฉุกเฉิน จากระดับที่ 3 เป็นระดับที่ 2 และใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนในทุกพื้นที่ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะถูกห้ามออกนอกเมือง ส่วนประชาชนรายอื่นๆ จะได้รับคำแนะนำไม่ให้ออกจากเมือง นอกจากมีผลตรวจไวรัสโควิด-19 เป็นบวกในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

ด้านประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูง จะต้องอยู่แต่ในบ้านและรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โรงเรียนถูกสั่งปิดและเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์แทน รวมถึงมีการยกเลิกเที่ยวบินขาเข้าและขาออกจากกรุงปักกิ่งจำนวนมากในวันนี้ (17 มิ.ย. 63)

เว็บไซต์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานด้วยว่า จีนห้ามนำเข้าแซลมอน จากซัพพลายเออร์ในยุโรปชั่วคราว หลังเกิดความกังวลว่า ปลาแซลมอนอาจเกี่ยวโยงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหม่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่เนื้อปลาแซลมอนจะเป็นพาหนะของโรคนี้

จีนห้ามนำเข้าแซลมอน

เมื่อไม่นานนี้ ผลการทดสอบเบื้องต้นระบุว่า มีการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งก่อโรคโควิด-19 บนเขียงสำหรับหั่นเนื้อปลาแซลมอนนำเข้า ในตลาดซินฟาตี้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ในปักกิ่ง

แม้จะมีการตรวจพบไวรัสในตัวอย่างที่เก็บจากจุดอื่นๆ ของตลาดขายส่งอาหารซินฟาตี้ด้วย แต่สื่อท้องถิ่นและชาวเน็ตต่างกังวลกันว่า ไวรัสอาจแพร่กระจายผ่านอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอน หรือ บรรจุภัณฑ์ของปลาแซลมอน ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน

เหวินอวี้เหมย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นและนักวิชาการประจำสถาบันวิศวกรรมแห่งชาติจีน (CAE) ออกมาอธิบายประเด็นข้างต้น โดยให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้ เทคโนโลยี โพสต์ (Shanghai Technology Post) ว่า สัตว์เลือดเย็นที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกอย่างปลาแซลมอน ไม่สามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้

ด้านไมก์ ไรอัน (Mike Ryan) หัวหน้าโครงการฉุกเฉินของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนเช่นกัน “เราทราบกันดีว่าโรคนี้แพร่กระจายจากคนสู่คนเป็นหลัก โดยผ่านทางเดินหายใจและการปนเปื้อนจากมนุษย์ที่อยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมนั้นๆ อีกทั้งเรายังพบว่าโรคนี้สามารถทลายกำแพงทางชนิดพันธุ์ของมนุษย์ได้อีกด้วย” ไรอันกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563

“ชัดเจนว่าที่ผ่านมามีการวิจัยเกิดขึ้นมากมาย ที่เกี่ยวกับฤทธิ์เดชของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ และไวรัสตัวอื่นๆ ที่จะอยู่รอดบนพื้นผิวที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์”

“ในกรณีเฉพาะนี้ ผมคิดว่านี่ก็คือสมมติฐานข้อหนึ่ง และหากเหตุการณ์นี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ก็จำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม” ไรอันกล่าว

ไรอันระบุว่ารายงานที่เกี่ยวข้องหลายฉบับระบุว่าชนิดของไวรัสที่พบในการระบาดครั้งล่าสุดในปักกิ่งนั้น เป็น “สายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด” ในยุโรป

“การค้นพบว่าไวรัสนี้อาจเป็นหนึ่งสายพันธุ์ที่พบในการแพร่ระบาดในภูมิภาคยุโรปเป็นเรื่องที่สำคัญ และนั่นก็อาจสะท้อนได้ถึงข้อสันนิษฐานการติดต่อจากคนสู่คน มากกว่าที่จะเป็นสมมติฐานข้ออื่นๆ … แต่ก็ยังต้องดูกันต่อไป”

ด้านเฉินเอี้ยนข่าย รองหัวหน้าสำนักกำกับดูแลตลาดเทศบาลปักกิ่ง กล่าวว่าปักกิ่งจะยกระดับการตรวจสอบบรรดาตลาดอาหารที่จำหน่ายของสด รวมถึงเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะและสัตว์ปีกแช่แข็ง

นอกจากนั้น ขณะนี้เมืองอื่นๆ ทั่วจีน ยังได้ยกระดับการตรวจเนื้อสัตว์และอาหารทะเลสดด้วยเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดของการแพร่ระบาดของโรคในปักกิ่งนั้น น่าจะช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาได้ ทว่าการกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งของโรคนี้ในปักกิ่ง ยังคงมีหลายอย่างที่เรายังไม่ทราบแน่ชัด และยังต้องรอการยืนยันจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม

หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 2 ปักกิ่งได้ดำเนินการฆ่าเชื้อในพื้นที่ตลาดจำหน่ายสินค้าจากฟาร์มจำนวน 276 แห่ง ปิดตลาดใต้ดินและกึ่งใต้ดินไป 11 แห่ง เพื่อเสริมการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงทำการฆ่าเชื้อให้กับร้านของผู้ให้บริการด้านอาหารทั้งสิ้น 33,173 ราย

หน่วยงานการศึกษาปักกิ่งสั่งการให้โรงเรียนหลายแห่งระงับการเรียนการสอนในโรงเรียนอีกครั้ง และอนุญาตให้นักเรียนเลือกที่จะเรียนจากที่บ้านได้

โดยก่อนหน้านี้ นักเรียนราว 840,000 คน จาก 9 ชั้นปีในระดับชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนมากกว่า 1,400 แห่งทั่วปักกิ่ง เพิ่งจะได้กลับมาโรงเรียนตามปกติ

หลายหน่วยงานในปักกิ่งตัดสินใจเลื่อนการเปิดเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเดิมมีกำหนดวันเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ออกไปและระงับการจัดกิจกรรมกีฬาทั้งหมด

ขณะเดียวกัน โรงเรียนในเขตเฟิงไถและเขตซีเฉิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่เป็นส่วนใหญ่ ได้รับอนุญาตให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนเฉพาะชั้นเรียนของนักเรียนชั้นปีสุดท้ายเท่านั้น

ปักกิ่งยังเรียกร้องให้รถแท็กซี่และยานพาหนะที่ให้บริการผ่านทางแอพพลิเคชั่น เดินทางภายในเมืองเท่านั้น เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo