Business

ไทย คว้าอันดับ 29 ความสามารถการแข่งขันประเทศ ร่วงรูด 4 อันดับ

TMA เผย ผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 29 หล่นจากอันดับที่ 25 สิงคโปร์ซิวแชมป์ระดับโลกไปครอง

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เปิดเผยว่า ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2563 พบว่า ประเทศไทย มีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 77.233 มาอยู่ที่ 75.387

ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29

จากคะแนนที่ลดลงดังกล่าว ส่งผลให้ ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศไทย ลดลง 4 อันดับ จากอันดับที่ 25 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 29 ซึ่งใกล้เคียงกับอันดับในปี 2561 อยู่ที่อันดับที่ 30

ส่วนเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งยังคงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับที่ 2 ได้แก่ เดนมาร์กที่เพิ่มขึ้น 6 อันดับจากปีที่แล้ว ตามมาด้วย อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 4 เนเธอร์แลนด์ และอันดับ 5 ฮ่องกง จากการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ด้านเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน ที่ได้รับการจัดอันดับ อีก 4 ประเทศ มีอันดับลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยมาเลเซียลดลง 5 อันดับอยู่ที่อันดับ 27 อินโดนีเซียลดลง 8 อันดับอยู่ที่อันดับ 40 ขณะที่ฟิลิปปินส์มีอันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ อยู่ที่อันดับ 45 ส่วนสิงคโปร์นั้นยังคงเป็น อันดับ 1 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ผลการจัดอันดับของไทย ในภาพรวมที่ลดลง เนื่องมาจาก การถดถอยลงของสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ การขาดความสามารถในการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว

อีกด้านหนึ่ง ก็คือประสิทธิภาพของภาครัฐ ซึ่งถดถอยจาก กรอบนโยบาย กฎหมาย และ แนวทางการบริหารงาน ในการบริหารประเทศ รวมทั้งสถานะการคลัง ที่ถดถอยลง

คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ 10
ธีรนันท์ ศรีหงส์

อย่างไรก็ดี แม้อันดับโดยรวมของประเทศลดลง แต่ก็มีองค์ประกอบที่ดีขึ้นใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ในด้านแนวทางการบริหารและจัดการและทัศนคติ และค่านิยมของภาคธุรกิจ ที่ปรับตัวดีขึ้น

ในขณะที่ด้านตลาดแรงงาน เริ่มกลายเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ เช่น ประเด็นการผลิตแรงงาน ให้ตรงกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และ ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

นอกจากนั้น ทุกภาคธุรกิจ ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพ และประสิทธิภาพ ซึ่งมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ

ด้านปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)  มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอันดับ ในทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย แต่คะแนน และอันดับขีดความสามารถโดยรวม ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นหลักได้แก่ ด้านการศึกษา การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ และโครงสร้างด้านเทคโนโลยี

สำหรับการจัดอันดับฯ ในปี 2563 IMD ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งไทยควรให้ความสนใจ เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาให้สอดรับกับอนาคต ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ดัชนีระดับความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) และสัดส่วนของผู้ประกอบการใหม่ในระยะเริ่มต้นธุรกิจ (Total early-stage entrepreneurial activity)

10 อันดับที่มีความสามารถสูงสุด

ทั้งนี้ การที่อันดับของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย มีการปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับในปี 2562 แล้วกลับลดลง 4 อันดับในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า การยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ และการปรับตัว เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างทันการณ์ ยังคงเป็นความท้าทายของประเทศไทยในระยะยาว

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกลไกในการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่ทำงานอย่างมีเอกภาพ และมีความต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงอยากขอเสนอให้รัฐบาลกลับมาให้ความสำคัญ กับการสร้างกลไกในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับต่าง ๆ อย่างชัดเจนขึ้น

หนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ เช่น การรื้อฟื้นการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เพื่อกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ฯลฯ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน และติดตามผลการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

ที่ผ่านมา TMA ได้ดำเนินการโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program (TCEP) มาตลอดระยะเวลา 12 ปี เพื่อเป็นกลไกในการระดมความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ และประสานความร่วมมือของภาคเอกชนกับภาครัฐ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในระดับประเทศ ระดับองค์กร และระดับบุคคล

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 7-8 กันยายน 2563 นี้ TMA และเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน จะจัดสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2020 ภายใต้หัวข้อ Restarting, Winning the Future เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาของประเทศไทยในโลก หลังวิกฤตโควิด 19

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo