Business

จับตา 3 ตัวแปร ปั๊มชีพจร ‘อสังหาริมทรัพย์’ หลังโควิด-19 ‘ราคา’ ยังเป็นปัจจัยหลัก

ปั๊มชีพจรอสังหาริมทรัพย์ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผย ราคายังเป็นตัวนำการตัดสินใจซื้อ  เทรนด์แนวราบแรงแซงแนวสูง และการออกแบบบ้านจาก ความจำเป็นใหม่

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า หลังจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด – 19 ทำให้ต้องมองถึงการปั๊มชีพจรอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว หลังจากนี้ โดยเฉพาะปัจจัยที่จะเช้ามา ปั๊มชีพจรอสังหาริมทรัพย์ ไทยให้กลับมาเติบโต

3ตัวแปร02 01

 

ภายใต้มาตรการผ่อนปรน ที่เริ่มรีสตาร์ทเศรษฐกิจประเทศ ระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยมุมมองเศรษฐกิจ ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2563 พร้อมประมาณการเศรษฐกิจไทย จะหดตัวจากเดิมที่ -5% มาเป็น -6% โดย 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่จะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ โดยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการฟื้นตัว

จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวและกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมา ประกอบกับความไม่มั่นใจ ในการนำเงินก้อนใหญ่มาลงทุนซื้อที่อยู่อาศัย คาดว่าจะทำให้ ดัชนีราคาจะยังคงทรงตัว ตลอดทั้งปี 2563

กมลภัทร แสวงกิจ
กมลภัทร แสวงกิจ

ในขณะที่ผู้ประกอบการเอง พยายามจะระบายสินค้าคงค้าง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ที่จะมีการปรับลดการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งในปี 2563 จะยังเป็นตลาดของผู้ซื้อที่มีความพร้อม เนื่องจากการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับโปรโมชัน และส่วนลดที่น่าสนใจ

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ได้เปิดมุมมอง ปั๊มชีพจรอสังหาริมทรัพย์ ให้สามารถฟื้นตัวได้ในยุคโควิด-19 ผ่าน 3 ตัวแปรหลัก ดังนี้

“ราคา” ตัวเร่งการตัดสินใจหลักของผู้บริโภค

จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมีเนียมในระดับราคา 8-15 ล้านบาท มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นถึง 5% และระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้น 15%

แนวโน้มราคา

สำหรับราคาคอนโดมิเนียมไตรมาสแรกปี 2563 ลดลง 6% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่อลงทุน สนใจเข้ามาซื้อเพื่อขยายพอร์ตการลงทุน ในทำเลที่มีศักยภาพ เพื่อจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนทาวน์เฮ้าส์ปรับราคาลดลง 2% ขณะที่บ้านเดี่ยวปรับราคาเพิ่มขึ้น 2% เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการอยู่อาศัยจริงและมีกำลังซื้อ

จากตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นนาทีทองของกลุ่มนักลงทุนและผู้ซื้อที่มีความพร้อม เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ แข่งขันกันออกแคมเปญ และโปรโมชันลด แลก แจก แถม ระบายสินค้าคงค้าง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมเพื่อจูงใจผู้ซื้อ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง

ในส่วนของทำเล ที่มีดัชนีราคาเติบโตสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสก่อน, เขตดินแดง เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน, เขตจตุจักร เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน, เขตบางคอแหลม เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน และ เขตพระโขนง เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน

5ทำเล ราคาสูง

ด้านแนวโน้มอุปทาน พบว่า เขตวัฒนายังคงเป็นพื้นที่ที่มีอุปทานคอนโดมิเนียมสูงที่สุด โดยคิดเป็น 20% ของอุปทานคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ขณะที่เขตประเวศ มีสัดส่วนจำนวนอุปทานบ้านเดี่ยว สูงที่สุดต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 9% ของอุปทานบ้านเดี่ยวทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดย 56% อยู่ในแขวงประเวศ

นอกจากนี้ยังพบว่า กรุงเทพฯ ยังคงเป็นเมืองที่มีกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม จันทบุรีและเชียงใหม่ ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่น่าจับตามอง จากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รถไฟความเร็วสูงในภาคตะวันออกและภาคเหนือ สนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่าง ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก

5ทำเลราคาลด

แนวราบ ได้รับความสนใจมากกว่าแนวสูง

มาตรการเว้นระยะห่าง (Physical Distancing) ทำให้ผู้คนเล็งเห็นความสำคัญของสุขอนามัย ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สอดคล้องกับการที่บ้านแนวราบกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มว่า คนจะพิจารณาซื้อบ้านในทำเลใจกลางเมืองลดลง เพราะอนาคตการทำงานจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถทำงานที่ไหนก็ได้

แนวโน้มดังกล่าว ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางไปเช้า เย็นกลับ ตามเวลาทำงานปกติอาจลดน้อยลง ส่งผลให้ทำเลชานเมืองได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบขนส่งที่เอื้อต่อการเดินทาง ยังคงเป็นความต้องการหลัก ๆ โดยเฉพาะการขยายโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ที่กลายเป็นโอกาสของโครงการในเขตรอบนอกใจกลางเมือง

ขณะที่ ดัชนีราคาของอสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 นับจากช่วงไตรมาสที่ 1 ปี2562 ส่วนใหญ่ดัชนีราคาที่ปรับลดลง จะเป็นที่อยู่อาศัยประเภท คอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์ ส่วนบ้านเดี่ยว มีระดับราคาเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 9% ในรอบ 2 ปี

ทำเลน่าจับตา

ความปกติใหม่ภายในบ้าน (New Necessities to New Normal)

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่จะต้องพัฒนาการออกแบบมาให้เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะเน้นเพื่อประโยชน์ของการเป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

นับจากนี้ บ้านจะถูกออกแบบให้เป็น Smart Home Automation ที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถจัดการด้านพลังงาน สุขอนามัย รวมทั้งความบันเทิง ที่รองรับระบบควบคุมระยะไกล พร้อมกับการออกแบบให้เอื้อต่อ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ ไอโอที และ ระบบจดจำด้วยใบหน้า (Face Recognition) เพื่อลดการสัมผัส และรองรับการทำงานจากที่บ้าน

พร้อมกันนี้ ผู้คนยุคใหม่ จะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ และสามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงาน และลูกค้าได้อย่างไม่ติดขัด รวมทั้งต้องนำมาปรับใช้ ให้ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันในอนาคตอันใกล้นี้ได้อีกด้วย

นางกมลภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยบวกในปีนี้คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลง ทำให้ผู้กู้ซื้อบ้าน หรือรีไฟแนนซ์บ้าน ได้รับประโยชน์จากการผ่อนสินเชื่อบ้านน้อยลง

home automation

ประกอบกับการที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่เลื่อนเก็บภาษีไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 และปรับเกณฑ์ให้ผู้ซื้อเพื่อปล่อยเช่า เสียอัตราภาษีเท่ากับที่อยู่อาศัย ล้วนเอื้อต่อการซื้ออสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย และลงทุนมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับนายหน้า

1. การตลาดออนไลน์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการสร้างการรับรู้ และ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในปัจจุบัน เว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก

2. สำหรับนายหน้าอสังหาฯ  การนำเสนอ ออกแบบรูปภาพ วิดีโอ และเนื้อหาที่ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้อาศัย โดยเฉพาะคอนเทนต์ประเภท 360 องศาจะยิ่งดึงดูดสายตากลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

3. เรียนรู้การใช้ข้อมูลเชิงลึก สถิติ และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มาสร้างเป็นข้อมูลที่สามารถส่งต่อประสบการณ์ที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo