Business

จับตา! ธนาคารพาณิชย์จะเปลี่ยนแปลงไป….หลังสถานการณ์โควิด

จับตา! หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด “ธนาคารพาณิชย์” จะเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้อยู่รอดและคงบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงินของเศรษฐกิจต่อไป

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการปรับตัวครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นอีกเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลายด้าน ธนาคารพาณิชย์จึงต้องปรับตัวและสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถอยู่รอดและคงบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงินของเศรษฐกิจต่อไป

“โควิด-19” เป็นตัวเร่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เร็วกว่าเดิม (Speed-Up Disruption) เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดที่เร่งตัวขึ้น จากกิจกรรมซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสธนบัตร ความคุ้นชินต่อการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมการทำงานหรือเรียนหนังสือที่บ้าน การแข่งขันกับผู้ให้บริการนอนแบงก์อื่นๆ ที่จะรุนแรงมากขึ้น

เอทีเอ็ม โควิด166631

นอกจากนี้ “โควิด-19” ได้สร้างภาวะปกติใหม่ (New Normal) เช่น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเศรษฐกิจจะชะลอตัวอีก 2-3 ปี ในลักษณะ U-Shaped ที่ส่งผลต่อการกู้ยืมและชำระหนี้ ธุรกิจต้องเน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีอัตโนมัติทดแทนแรงงานมากขึ้น ขณะที่ ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น การรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้เกิดกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ การออมก่อนซื้อ เป็นพฤติกรรมการใช้เงินอย่างระมัดระวังจากความไม่แน่นอนทางด้านรายได้

การระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ให้ปรากฎรวดเร็วขึ้น รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ทั้งในมิติของพฤติกรรมผู้บริโภค เศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และการแข่งขัน ส่งผลให้การทำธุรกิจในลักษณะเดิม (Traditional Banking) ได้รับผลกระทบ ทั้งลูกค้ากลุ่มเดิม และช่องทางดั้งเดิมอย่างเช่นสาขาและเอทีเอ็ม

CommercialBank FB1520

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะมีการเปลี่ยนแปลงหลักใน 4 ด้าน ได้แก่

1. การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) หรือการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ตามความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงช่องทางเสริมใหม่ๆ เช่น Call Center และ Chatbot ที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเช่นกัน

2. การทบทวนและเปลี่ยนแปลงนโยบายเครดิต ให้สอดคล้องกับความสามารถในการกู้ยืมและชำระหนี้ของลูกค้า

3. การควบคุมและบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ธนาคารพาณิชย์อาจนำเทคโนโลยี Automation, AI, Machine Learning เข้ามาช่วยจัดการในกระบวนการทำงานและยกขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มเติม

4. โอกาสทางธุรกิจใหม่ เช่น การออกผลิตภัณฑ์จากพฤติกรรมการใช้เงินที่ระมัดระวังมากขึ้นของลูกค้า รวมถึงปรับเงื่อนไขราคาของ ผลิตภัณฑ์ให้สนับสนุนพฤติกรรมการออมเหล่านั้น การทำธุรกิจธนาคารในรูปแบบ Banking as a service (BaaS) ด้วยการนำเทคโนโลยี API เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการเงินเพื่อแลกกับค่าธรรมเนียมหรือข้อมูลธุรกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้านนี้ เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ รายได้แหล่งใหม่ รวมถึงปรับตัวพร้อมรับกับคู่แข่งได้ดียิ่งขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo