Business

‘ทอท.’ แง้มมีสิทธ์ร่วมทุนหน่วยธุรกิจ ‘การบินไทย’

“ทอท.” แง้มมีสิทธิ์ร่วมทุนหน่วยธุรกิจ “การบินไทย” ถ้าช่วยให้บริการสนามบินไม่สะดุด ตั้ง 3 เงื่อนไขในการพิจารณา

นิตินัย

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้บริหารสนามบินหลัก 6 แห่งในประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมเจรจาให้ ทอท. เข้าไปเป็นผู้ร่วมทุนหน่วยธุรกิจของการบินไทยว่า ล่าสุด ทอท. ยังไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับการบินไทย แต่ ทอท. มีการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวเป็นการภายในแล้ว

เรื่องนี้มีข้อต้องพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ

  • ต้องไม่เกิดการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
  • ต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าและตอบผู้ถือหุ้น ทอท. ได้
  • การฟื้นฟูกิจการของการบินไทย จะต้องไม่ทำให้การให้บริการพื้นฐานของสนามบินต้องสะดุด

“แม้ผลตอบแทนไม่สูงมาก แต่ถ้าจะทำให้การให้บริการพื้นฐานของสนามบินไม่ต้องสะดุด ก็เข้าข่ายที่จะรับพิจารณา” นายนิตินัยกล่าว

การบินไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่การบินไทยเตรียมเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยมีกลยุทธ์ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 1. ปรับฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ, 2. ปรับลดเส้นทางการบิน, 3. เพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้ 4. ปรับโครงสร้างองค์กร, 5. การประหยัดค่าใช้จ่าย และ 6. เร่งขยายการลงทุนในหน่วยธุรกิจย่อย

สำหรับกลยุทธ์ที่ 6 เร่งขยายการลงทุนในหน่วยธุรกิจย่อย เช่น ครัวการบิน บริการภาคพื้น ฝ่ายช่าง คาร์โก้ และไทยสมายล์ โดยการบินไทยต้องออกไปหาผู้ร่วมทุนรายใหม่จากต่างประเทศ รวมทั้งเร่งเจรจาขอให้ ทอท. เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนในหน่วยธุรกิจของการบินไทย เพราะ ทอท. เป็นเจ้าของพื้นที่ที่บริษัทเช่าอยู่ และยังมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจคล้ายการบินไทยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อการบินไทยหลุดจากรัฐวิสาหกิจ ทำให้สิทธิประโยชน์ที่การบินไทยเคยได้รับจาก ทอท. หายไป ทั้งการใช้พื้นที่บริเวณสนามสุวรรณภูมิและดอนเมือง

การบินไทย

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งถึงปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 ว่า การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านคน ลดลง 46.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 6.5 ล้านคน

ส่วนปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) พบว่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.4% โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง 40.7% แบ่งเป็น เส้นทางภายในประเทศลดลง 41.3%, เอเชียลดลง 53.1%, ออสเตรเลียลดลง 28.2% และยุโรปลดลง 29%

อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)ในช่วง 4 เดือนของปี 2563 อยู่ที่ 70.9% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับ 80.8% แบ่งออกเป็น อัตราบรรทุกผู้โดยสารเส้นทางในประเทศ 73% ลดลงจาก 83.4% ช่วงเดียวกันของปีก่อน, เอเชียเท่ากับ 62.9% ลดลงจาก 78.6%, ออสเตรเลียเท่ากับ 78.5% ลดลงจาก 83% และยุโรปเท่ากับ 76.6% ลดลงจาก 82.8%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo