COVID-19

เบรคเอี๊ยด ‘Travel Bubble’ ต้องชัด หวั่นนำโควิดเข้าประเทศ

Travel Bubble ต้องชัด ศบค. รับหลักการ แต่ให้กลับคณะกรรมการชุดย่อย ศึกษารายละเอียด ก่อนนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง กันนำโควิด-19 เข้าประเทศ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ศบค.รับหลักการแนวทางการเปิดประเทศเพื่อท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel bubble ) ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ แต่ Travel Bubble ต้องชัด

Travel Bubble ต้องชัด

ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่า ปัจจุบัน มีบางประเทศดูแลการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี เช่น บางเมืองของ สิงค์โปร จีน อิสราเอล กรีซ ไซปรัส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จอร์เจีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตั้งกรรมการชุดย่อย เพื่อศึกษาถึงรายละเอียด มาตรการต่างๆ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจ ทั้งประชาชน และ นักท่องเที่ยว เพราะหากเข้ามาแล้ว จะสร้างรายได้เข้าประเทศแน่นอน แต่แต่การควบคุมโรคต้องเกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่เข้ามาแล้ว เอาเชื้อมาแล้วมาติดคนในประเทศ ตรงนี้ต้องมีมาตรการติดตามได้ทั้งหมด

“ที่สำคัญ ถ้าอยากจะมาท่องเที่ยว สิ่งที่ นักท่องเที่ยว กลัวมากที่สุด คือ ต้องกักตัว 14 วัน หรือไม่ จึงต้องมาทลายข้อนี้ออก ต้องมั่นใจว่าต้องไม่มีเชื้อ และสามารถควบคุมและติดตามได้ เช่น กอล์ฟ หรือในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ปิด หรือ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ที่ต้องมีการดูแลอย่างดี และ ได้การรับรอง จากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”

IMG 30610 20200510134003000000 e1589095967199

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ Travel bubble จะเริ่มจาก ประเทศที่มีความสามารถ ในการควบคุมการระบาดอย่างดี อีกทั้ง การเดินทางเข้าออกประเทศระหว่างกัน ต้องมีการตรวจเชื้ออย่างเข้มงวด ตั้งแต่ประเทศต้นทาง ก่อนออกนอกประเทศ และ ตรวจซ้ำ เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง และต้องมีประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังเน้นไปที่ นักท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง สามารถติดตามได้ และมีหนังสือรับรอง รวมถึงมีความจำเป็นต้องเข้ามา ได้แก่ 1. กลุ่มนักธุรกิจ 2. กลุ่มผู้เข้ามารับบริการรักษาทางการแพทย์

พร้อมกันนี้ ยังมีการยกตัวอย่างประเทศเป้าหมาย ในที่ประชุม เช่น จีน รวมฮ่องกงและมาเก๊า เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา หรือ ตะวันออกกลางบางประเทศ

ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงสั่งให้ไปหารือในรายละเอียด วิธีการ มาตรการ และนำกลับมาเสนอโดยเร็ว เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อผ่อนคลายทางธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

อีกประเด็นที่น่าจับตาคือ มาตรการต่างๆ ที่จะทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่ายขึ้น ในยุคการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น  จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ที่กำหนดไว้วันที่ 26 มิถุนายนนี้  ซึ่งจะเป็นการประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล หรือ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์

สำหรับหลักการสำคัญ Travel bubble คือ การจับคู่เปิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน กับประเทศที่มั่นใจได้ว่า ไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับที่วางใจได้ และเชื่อมั่นได้ในมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาด จึงงดเว้นไม่ต้องกักตัว 14 วัน โดยต้องมีใบรับรองผลตรวจโควิด-19 ว่า ไม่มีการติดเชื้อมายืนยัน ก่อนเข้าประเทศ

สาเหตุที่ทำให้ ทราเวล บับเบิล จะเป็นทางรอดสำคัญ ของ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงเป็นเพราะสามารถสร้างความ “มั่นใจ” ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้ว่าการเดินทางไปประเทศที่ทำข้อตกลงร่วมกัน จะมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง และทำให้กล้าวางแผนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลที่ได้คือ การเดินทางของ นักท่องเที่ยว เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยกู้สถานการณ์ของ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo