Business

‘การบินไทย’ ลั่นไม่ปลดพนักงาน ภายใน 1 ปี เตรียมดึง ‘ทอท.’ ร่วมทุนธุรกิจ

‘การบินไทย’ ลั่นไม่ปลดพนักงาน “ดีดี” ชี้แจงพนักงาน จะไม่ปลดคนภายในเวลา 1 ปี จนกว่าโครงสร้างองค์กรจะชัดเจน เตรียมดึง “ต่างชาติ-ทอท.” ร่วมทุนหน่วยธุรกิจย่อย ขอเจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้เพิ่ม

การบินไทย

วันนี้ (11 มิ.ย. 63) นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร ได้ให้ข้อมูลแก่พนักงานการบินไทย เกี่ยวกับ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ในการประชุม Staff Meeting ผ่านระบบออนไลน์

การบินไทย ลั่นไม่ปลดพนักงาน ภายใน 1 ปี สิ่งที่สำคัญคือการบริหารเงินสด

ทั้งนี้ นายจักรกฤศฏิ์ ระบุว่าสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในขณะนี้คือ การบริหารเงินสดให้เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไป ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกด้าน ปัจจุบันการบินไทยยังคงมีเงินสดเหลือพอ เนื่องจากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ไปไล่เก็บหนี้ ถอนเงิน และลดค่าใช้จ่ายหลายส่วน

หากธุรกิจเริ่มกลับมาบินได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดี แต่อาจะไม่เต็มรูปแบบหากเงินสดเหลือน้อย ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอกู้เพิ่ม หากบริษัทจะกลับมาทำการบินอีกครั้ง เพราะจะต้องมีค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าประกันภัย

ในส่วนของพนักงานนั้น มีการถามเข้ามามากว่าจะตกงานไหม หรือจะมีงานทำต่อไหม ขอให้พนักงานมั่นใจว่าปัจจุบันทุกคนยังเป็นพนักงาน จะยังไม่ปรับลดพนักงานในช่วงนี้ เพราะต้องรอแผนการรับโครงสร้างองค์กรให้ชัดเจนก่อน หากแผนเสร็จจะบอกได้ว่าพนักงานในองค์กรจะต้องเหลือกี่คน จากนั้นจึงจะวางแผนปรับลดและหามาตรการเยียวยา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าจะปรับลดพนักงาน

 “การปรับโครงสร้างองค์กร อาจทำให้บริษัทมีทิศทางธุรกิจที่แน่นอนว่า จะต้องขยายงานส่วนไหน อาจจะไม่ต้องปรับลดคนจำนวนมาก เพราะอาจจะต้องโอนย้ายพนักงานไปยังส่วนอื่นแทน ขอให้พนักงานทุกคนไม่ต้องกังวลมาก และขอให้ความร่วมมือการแก้ปัญหาเพื่อให้บริษัทต้อสู้ และผ่านวิกฤติที่หนักที่สุดไปให้ได้”

การบินไทย

การบินไทย ดึง “ทอท.-ต่างชาติ” ร่วมทุน

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่าวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท โดยระหว่างนี้บริษัทจะต้องเร่งเจรจากับเจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้การค้า และเร่งทำความเข้าใจกับพนักงาน เพื่อไม่ให้เกิดการคัดค้านจากเจ้าหนี้และให้ศาลรับพิจารณาคำร้องเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไปได้ ซึ่งศาลฯ อาจจะใช้เวลาอีก 3-5 เดือน ในการพิจารณา หากแผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบจากศาลฯ  ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการบริหารแผนฟื้นฟู

โดยระหว่างนี้ บริษัทจะต้องเร่งดำเนินการตามกลยุทธ์ 6 ด้าน

1. ปรับฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ โดยลดประเภท และชนิดและจำนวนลงให้สอดคล้องกับปรับลดเส้นทางบินในอนาคต เพราะเป็นต้นทุนสำคัญ ซึ่งฝ่ายบริหารกำลังพิจารณาว่าควรลดจำนวนเครื่องบินเหลือกี่ลำ

2. ปรับลดเส้นทางการบิน จากปกติบิน 6 พันเที่ยวต่อปี  ต้องชัดเจนว่าจะเหลือกี่เส้นทาง เพราะจะส่งผลต่อการคำนวณรายได้ของบริษัท

3. เพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้ ปรับปรุงระบบขายตั๋วให้ได้เงินเร็วขึ้น และลดขายผ่านตัวแทน เน้นขายออนไลน์ แบบขายราคาเดียว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับระบบการขายตั๋วใหม่ คาดว่าเดือนกรกฎาคมนี้จะนำระบบใหม่มาใช้ได้

การบินไทย

4. ปรับโครงสร้างองค์กร ลดบุคคลกรให้สอดคล้องกับจำนวนเส้นทางบิน

5. การประหยัดค่าใช้จ่าย เรื่องสิทธิ์ประโยชน์ต้องปรับปรุง เพื่อให้บริษัทกลับเข้าสู่มาตรฐานบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

6. เร่งขยายการลงทุนในหน่วยธุรกิจย่อย เช่น ครัวการบิน บริการภาคพื้น ฝ่ายช่าง คาร์โก้ และไทยสมายล์ โดยต้องออกไปหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ต่างชาติ รวมทั้งเร่งเจรจาขอให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนในหน่วยธุรกิจของการบินไทย เพราะ ทอท. เป็นเจ้าของพื้นที่ที่บริษัทเช่าอยู่ และยังมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจคล้ายการบินไทยอีกด้วย ขณะเดียวกัน การหลุดจากรัฐวิสาหกิจ ทำให้สิทธิประโยชน์ที่บริษัทเคยได้รับจาก ทอท. หายไป ทั้งการใช้พื้นที่บริเวณสนามสุวรรณภูมิและดอนเมือง

“ผมมองว่าภายใน 1-2 ปีนี้ ธุรกิจการบินจะยังไม่สามารถกลับมาบินเต็มรูปแบบเหมือนในอดีต เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตคนและการเดินทางเปลี่ยนไป อาจทำให้ การบินไทย ต้องปรับตัว แต่หากเราเดินไปตามกลยุทธ์ 6 ด้าน ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าภายใน 5 ปีหลังบริหารแผนเสร็จบริษัทจะกลับมาแข็งแรง และสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเองได้”

ข้อมูลเพิ่มเติม

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (Thai Airways International Public Company Limited) เป็นสายการบินประจำชาติของประเทศไทย อดีตรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 โดยปฏิบัติการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหลัก

ทั้งนี้ การบินไทย ยังได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรการบิน สตาร์อัลไลแอนซ์ เคยเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินนกแอร์ และเปิดตัวสายการบินลูก ไทยสมายล์ อีกด้วย

การบินไทย ให้บริการการบินไปยัง ท่าอากาศยานทั้งหมด 62 แห่ง ใน 32 ประเทศ (ไม่รวมประเทศไทย) แบ่งเป็นต่างประเทศ 59 สนามบิน ในประเทศไทย 3 สนามบิน (ไม่รวมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ครอบคลุม 3 ทวีปทั่วโลก จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยฝูงบินกว่า 81 ลำ การบินไทยเป็นสายการบินลำดับต้นในเอเชีย ที่ทำการบินในเส้นทางกรุงเทพ – ลอนดอน (ท่าอากาศยานฮีทโธรว์)

การบินไทย ประสบความสำเร็จในการนำเครื่องบินขนาดใหญ่ ชนิด โบอิง 747 ทำการบินในท่าอากาศยานภายในประเทศ 4 ท่าอากาศยาน ได้แก่

เส้นทางบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง ไปกลับ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

เส้นทางบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานเชียงใหม่

เส้นทางบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปกลับ ท่าอากาศยานภูเก็ต

เส้นทางบิน ไปกลับ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา) ไปกลับ ท่าอากาศยานแฟรงก์เฟิร์ต เที่ยวบิน TG9209 และ TG9219 ในช่วงระหว่าง การบุกยึดท่าอากาศยานในประเทศไทย พ.ศ. 2551 ใน TG9219

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo