World News

‘ลุฟท์ฮันซา’ สายการบินใหญ่สุดของเยอรมนี ปลดพนักงาน 2.2 หมื่นคน

ฟ้าผ่า! ลุฟท์ฮันซาปลดพนักงาน 2.2 หมื่นชีวิต ลดฝูงบินลง 100 ลำ หวังพาสายการบินใหญ่สุดของเยอรมนี รอดจากวิกฤติ “โควิด-19”

ลุฟท์ฮันซาปลดพนักงาน

ลุฟท์ฮันซาปลดพนักงาน ครั้งใหญ่

ลุฟท์ฮันซา (Lufthansa) สายการบินที่ใหญ่สุดของประเทศเยอรมนี ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ จำนวน 2.2 หมื่นคน เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์การเดินทางทางอากาศที่ตกต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สายการบินกล่าวว่า การปลดพนักงานครึ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี โดยบริษัทหวังว่า จะตกลงมาตรการต่างๆ กับทางสหภาพได้ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 นอกจากนี้ลุฟท์ฮันซาจะพยายามทำให้พนักงานที่ถูกปลด มีจำนวนน้อยที่สุด ด้วยมาตรการจ้างงานระยะสั้นและข้อตกลงที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ

“เป้าหมาย คือ พยายามรักษาการจ้างงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า”

“ถ้าไม่ลดต้นทุนด้านบุคลากรลงอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างวิกฤติ เราจะพลาดโอกาสในการเริ่มต้นที่ดีกว่า และมีความเสี่ยงว่า กลุ่มลุฟท์ฮันซาจะฟื้นตัวจากวิกฤติด้วยความอ่อนแออย่างมีนัยยะสำคัญ”

ทั้งนี้ ทางสายการบินคาดการณ์ว่า ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า และหลังจากวิกฤติจบลง บริษัทจะมีเครื่องบินลดลงจากปัจจุบันประมาณ 100 ลำ

fig 16 06 2019 08 28 52

รัฐบาลตกลงอุ้ม ลุฟท์ฮันซา

ในดือนแล้ว ลุฟท์ฮันซาเพิ่งบรรลุข้อตกลงมูลค่า 9,800 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 310,000 ล้านบาท เปิดทางให้รัฐบาลเยอรมนีเข้าช่วยเหลือ หลังการเจรจาอย่างเคร่งเครียดนานหลายสัปดาห์ ถึงอนาคตของสายการบินชั้นนำของยุโรปรายนี้

การเข้าช่วยเหลือในครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลเยอรมนีกลายเป็นผู้ถือหุ้น 20% และมีที่นั่ง 2 ที่ในบอร์ดบริหารของสายการบินรายนี้ ที่เป็นเจ้าของสายการบินอีกจำนวนหนึ่งทั้งในเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยียม

ลุฟท์ฮันซาแถลงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ว่า กองทุนสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแห่งชาติ ของรัฐบาลเยอรมนี ที่ทำหน้าให้ความช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อนุมัติ “แพ็คเกจสร้างเสถียรภาพ” ให้กับสายการบิน และบอร์ดบริหารของบริษัท ก็สนับสนุนในข้อเสนอนี้

ตามข้อตกลงที่ทำไว้ รัฐบาลเยอรมนีจะอัดฉีดเงินให้กับลุฟท์ฮันซาสูงสุดที่ 6,200 ล้านดอลลาร์ โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนไว้ที่ 4% สำหรับปีนี้ และปีหน้า ก่อนจะเพิ่มขึ้นในปีต่อไป นอกเหนือจากการจัดหาสินเชื่อสูงสุด 3,300 ล้านดอลลาร์นาน 3 ปี โดยเงินส่วนใหญ่จะมาจาก “KFW” ธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐ

รัฐบาลเยอรมนีจะเข้าถือหุ้น 20% ในลุฟท์ฮันซา โดยกำหนดราคาไว้ที่หุ้นละ 2.79 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 327 ล้านดอลลาร์ และได้รับสิทธิที่จะเพิ่มการถือหุ้นถึง 25% บวก 1 หุ้น ซึ่งจะทำให้มีความสามารถขัดขวางความพยายามที่จะเข้าถือครองกิจการสายการบินนี้ได้ และรัฐบาลเห็นพ้องที่จะขายหุ้นทั้งหมดภายในปี 2566 โดยที่จะต้องได้รับคืนเงินลงทุน 6,200 ล้านดอลลาร์เต็มจำนวน และราคาหุ้นที่ซื้อคืนจะต้องสูงกว่าราคาที่เข้าซื้อในขณะนี้

ลุฟท์ฮันซาปลดพนักงาน

“ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ลุฟท์ฮันซามีสถานะที่แข็งแกร่ง และทำกำไร ทั้งยังมีโอกาสการดำเนินงานในอนาคตที่ดี แต่ต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉิน เพราะวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน” รัฐบาลเยอรมนี แถลง

ทั้งนี้ ลุฟท์ฮันซารายงานตัวเลขขาดทุนในไตรมาสแรกที่ 1,300 ล้านดอลลาร์ คาดว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าที่การบินโลกจะฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยบริษัทได้ตัดสินใจปิด เยอรมันวิงส์ (Germanwings) สายการบินราคาประหยัดในเครือไปแล้ว และก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ลุฟท์ฮันซาจะลดพนักงาน 10,000 ตำแหน่ง

ข้อมูลเพิ่มเติม

ลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa) หรือชื่อเต็มคือ ด็อยท์เชอลุฟท์ฮันซ่า อาเก (Deutsche Lufthansa AG) เป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี และถือเป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับสอง ของยุโรปในแง่จำนวนผู้โดยสาร ชื่อลุฟท์ฮันซ่ามาจากการประสมระหว่างคำว่า ลุฟท์ ที่แปลว่า “อากาศ” กับคำว่า ฮันซ่า ที่หมายถึง “สันนิบาตฮันเซอ”

บริษัทลุฟท์ฮันซ่าเป็นหนึ่งในห้าสายการบินผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์อัลไลแอนซ์ในปีค.ศ. 1997[2] ซึ่งเป็นเครือพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากลุฟท์ฮันซ่าจะดำเนินกิจการสายการบินภายใต้แบรนด์ของตัวเองแล้ว ลุฟท์ฮันซ่ายังมีสายการบินในเครือได้แก่ ออสเตรียนแอร์ไลน์, สวิสอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์, บรัสเซลแอร์ไลน์ และยูโรวิงส์ นอกจากนี้ บริษัทลุฟท์ฮันซ่ายังมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเครือ ได้แก่ Lufthansa Technik (ฝ่ายซ่อม) และ LSG Sky Chefs (ฝ่ายครัวการบิน) หากรวมจำนวนเครื่องบินของสายการบินทั้งหมดในเครือลุฟท์ฮันซ่าแล้ว จะมีเครื่องบินกว่า 700 ลำ ซึ่งถือกลุ่มบริษัทที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ลุฟท์ฮันซ่ามีสำนักงานใหญ่ของเครือบริษัทในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ส่วนฝ่ายปฏิบัติการใหญ่การเดินอากาศมีที่ตั้งในท่าอากาศยานแฟรงก์เฟิร์ต ฝ่ายปฏิบัติการรองมีที่ตั้งในท่าอากาศยานมิวนิก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo