COLUMNISTS

สอนออนไลน์…โดดเดี่ยว แต่อย่าให้เดียวดาย

Avatar photo
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
365

การเรียนการสอนออนไลน์เป็นอีกหนึ่งในนิว นอร์มัล หรือวิถีชีวิตใหม่ ที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญ แม้การเรียนรู้แบบนี้จะเกิดมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่ดูเหมือนสภาวะจำยอมในสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดสภาวะจำเป็นต้องหันมาพึ่งเทคโนโลยีเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมมากขึ้น ดังนั้นการเรียนการสอนออนไลน์จึงฟื้นคืนชีพกลับมาแบบไม่ทันตั้งตัว

ก่อนหน้าโควิดจะปรากฏตัว ห้องเรียนของเด็ก และห้องอบรมของผู้ใหญ่ไม่ได้มีแค่การถ่ายทอดความรู้เท่านั้น แต่ยังมีบรรยากาศแห่งผูกพันระหว่างกันด้วย การได้หันไปขอยืมยางลบจากเพื่อนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ หรือการได้เข้ากลุ่มระดมสมองร่วมกับเพื่อนต่างแผนกในบริษัท เป็นโมเมนต์ที่ประทับใจ แต่อาจหาได้ยากจากการเรียนออนไลน์

aloo

ตลอดชีวิตการทำงานด้านพัฒนาบุคลากรของผมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนถึงปี นี้ครบ 30 ปีพอดี ผมนับครั้งได้เลยว่ามีการอบรมออนไลน์ไม่ถึง 20 ครั้ง เฉลี่ยปีละไม่กี่ครั้ง หรือบางปีก็ไม่มีเลย แต่ตอนนี้แค่ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ผมสอนออนไลน์ไปแล้วเกือบทุกอาทิตย์ และมีแนวโน้มต้องทำแบบนี้ต่อไป มันเป็นวิถีชีวิตใหม่จริงๆ

ผู้เข้าอบรมบางคนประชดว่าการสอนออนไลน์ ไม่ต่างจากการกักตัว เพราะต้องอยู่ในห้องคนเดียว เพื่อน และวิทยากรก็อยู่กันคนละสถานที่ น่าจะเรียกว่า Quarantine Learning ไปซะเลย

ในความเป็นจริงการเรียนการสอนแบบนี้ ผู้เรียนจะเกิดประสบการณ์ 2 อย่างคือ

  1. ประสบการณ์โดดเดี่ยว หรือ Being Alone ผู้เรียนและผู้สอนต่างคนต่างอยู่ในที่ของตัวเอง (Distance in Place) ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
  2. ประสบการณ์เดียวดาย หรือ Feeling Alone เป็นความรู้สึกที่คิดว่า ต้องคิดอยู่คนเดียว หรือรู้สึกขาดเพื่อนช่วยคิด (Distance in Thoughts)

ในฐานะผู้สอนออนไลน์ เราคงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่อง Being Alone ของผู้เรียนได้ เพราะเป็นเงื่อนไขของการเรียนรู้แบบนี้ ผู้เรียนจะ Log in เข้ามาเจอกันในห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) ในเวลาที่กำหนดไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

แต่สิ่งที่ผู้สอนสามารถบริหารจัดการได้คือเรื่อง Feeling Alone ของผู้เรียน ระยะทางไม่ได้มีอุปสรรคต่อการสร้างความรู้สึกที่ไม่เดียวดาย

ผู้สอนสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแอปพลิเคชัน เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่ไม่เดียวดายได้ เช่นการใช้ Breakout Session แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้เข้าไประดมสมองร่วมกันในห้องย่อย ก่อนออกมาแชร์ให้เพื่อนในห้องใหญ่ฟัง

หรือการตั้งคำถามผ่าน Poll เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบเป็นระยะๆ รวมถึงการใช้ Whiteboard ให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกับเพื่อนๆ ด้วยการพิมพ์ข้อความของตนเองเข้าไป

นอกจากนี้ ผู้สอนยังสามารถชักชวนให้ผู้เรียนส่งสติ๊กเกอร์ หรือสัญลักษณ์ที่แสดงอารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อการเรียนรู้ถึงผู้สอนและเพื่อนๆ ได้ตลอดเวลาโดยไม่มีข้อห้ามหยุมหยิมจนขาดอิสระ

การออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ จะต้องลดความรู้สึกเดียวดายของผู้เรียนลง ผู้สอนต้องบรรยายให้กระชับ ตรงประเด็น อย่าร่ายยาวแบบ Non Stop เหมือนการสอนแบบเดิม แต่ต้องใช้กิจกรรมสลับการบรรยายคู่กันไป เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสอน

จากงานวิจัยเกี่ยวกับสมองพบว่า สมาธิของมนุษย์จะค่อยๆ ตกลงหลังผ่านไป 10 นาที ดังนั้นถ้าผู้สอนเปิดพาวเวอร์พอยท์แล้วพูดอยู่คนเดียว ผู้เรียนจะรู้สึกว่าห้องเรียนนี้ไม่ใช่ของตัวเอง ดังนั้นความสนใจของพวกเขาจะพุ่งไปที่นาฬิกาแทน แล้วภาวนาให้ถึงเวลา Log out เร็วๆ

ชีวิตวิถีใหม่ของผู้สอนไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากการสอนแบบเดิมมาเป็นการสอนแบบออนไลน์เท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนให้กลาย เป็น “การสอนวิถีใหม่” ด้วย

ถ้าทำได้! แม้ผู้เรียนจะโดดเดี่ยว แต่เขาจะไม่เดียวดาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม