General

คุมได้แล้ว ‘กาฬโรคแอฟริกาในม้า’ หลังไม่มีม้าตายเพิ่มกว่า 10 วันติด

โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า คุมสำเร็จ อธิบดีปศุสัตว์เผย หลังสั่งควบคุมโรคเข้ม ส่งผลไม่พบรายงานม้าตายกว่า10วัน ตั้งเป้า 2 สัปดาห์ ไล่ฉีดวัคซีนครบ 8,000 ตัว

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดี กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ม้าตายกว่า 40 ตัวเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เข้าดำเนินการควบคุมป้องกันโรคทันที ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน นับตั้งแต่มีการพบโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ล่าสุดไม่พบรายงานม้าตายเป็นเวลากว่า 10 วัน

โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า

ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือทั้งภาครัฐ  เอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย  ทีมหมอม้า กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับขั้นตอนในการควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ ได้ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ อูฐ ทั่วราชอาณาจักร พร้อมออกมาตรการนำม้าเข้ามุ้ง ป้องกันแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ม้า

ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการวัคซีนม้าทั้งหมด 8,000 ตัว ในวงรัศมีรอบจุดเกิดโรค 50 กิโลเมตร คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะสามารถฉีดวัคซีนให้ม้าได้ครบตามวัคซีนที่ได้รับ ซึ่งถือว่าครอบคลุมจังหวัดกลุ่มเสี่ยงที่เกิดโรคดังกล่าว

ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ได้รายงานสถานการณ์ของโรค ตั้งแต่วันแรกที่พบเชื้ออย่างโปร่งใส ไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เพื่อขอคืนสถานภาพการปลอดโรคให้กับประเทศไทย โดยคาดว่าไม่เกิน 2 ปี จะสามารถได้รับสถานภาพดังกล่าวกลับคืนมา

อธิบดีกรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

ด้านนายเจนวัตร ริมปิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดับเบิ้ลฮอร์สเวิร์คส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงแรกที่เกิดโรครู้สึกกังวล แต่หลังจากกรมปศุสัตว์ ได้เข้ามาฉีดวัคซีน พ่นยาฆ่าแมลง และกางมุ้งให้ม้าก็อุ่นใจขึ้น เพราะม้าในฟาร์มบางตัวเป็นม้าลูกค้าที่ฝากเลี้ยง จึงคาดว่ามาตรการนี้ จะทำให้ม้าทุกตัวในประเทศมีความปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ร่วมกัน กำหนดให้ม้าลาย เป็นสัตว์อยู่ในบังคับของ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เนื่องจาก โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า สามารถเกิดการระบาดได้ในม้า ลา ล่อ อูฐ และม้าลาย โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

นำเข้าก่อน

กรณีการนำเข้าม้าลายก่อนวันที่ 8 เมษายน 2563 หากผู้ประกอบการไม่มีความประสงค์ขอหนังสือแจ้งในหลักการให้นำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (ฉบับภาษาอังกฤษ) สามารถติดต่อได้ที่ด่านตรวจสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือให้นำใบผ่านแห่ง พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 (สป.6) โดยหน่วยงานต้นทาง พร้อมใบตรวจโรคยื่นต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ

ในส่วนของผู้ประกอบการ ที่มีประสงค์ขอหนังสือแจ้งในหลักการ ให้นำสัตว์เข้าในราชอาณาจักรฯ เพื่อเป็นการบริการประชาชนที่ร้องขอ ต้องแจ้งที่ด่านกักกันสัตว์นำเข้า เพื่อขอหนังสืออนุมัติในหลักการให้นำเข้าสัตว์ในราชอาณาจักรฯ และสำเนา สป.6

จากนั้น ทางด่านกักกันสัตว์นำเข้า จะออกหนังสือแจ้งอนุมัติการนำเข้า และแนบ Requirements เงื่อนไขการนำเข้าระบุแนวทางการกักและตรวจรับรองโรคระบาดฯ

นำเข้าหลัง

ส่วนการนำเข้าม้าลายหลังวันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าต้องยื่นแบบคำขออนุญาตนำสัตว์เข้าราชอาณาจักร (ร.1/1) ออนไลน์ผ่านระบบ e-Movement กรมปศุสัตว์, เอกสารประกอบการยื่นขอนำเข้าสัตว์ และสำเนา สป.6, แจ้งเที่ยวบินและกำหนดการนำเข้า แสดงสำเนา Health certification

หลังจากนั้น กรมปศุสัตว์จะออกใบแจ้งอนุญาตนำเข้าสัตว์ฯ และ Requirement เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งด่านกักกันสัตว์ ด่านตรวจสัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ และด่านตรวจศุลกากร จะตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจเอกสารรับรองสุขภาพฉบับจริง และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์

ในกรณีสัตว์ปกติ จะออกใบอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (ร.7) ส่วนกรณีพบสัตว์ผิดปกติ หรือไม่ตรงตามเงื่อนไข ต้องส่งกลับหรือทำลาย ทั้งนี้ในกรณีพบโรคระบาด กรมปศุสัตว์มีอำนาจดำเนินการทำลายสัตว์ดังกล่าวเพื่อควบคุมการระบาดของโรคได้

 

Avatar photo