Economics

‘แอร์พอร์ตลิงก์’ ชี้ ‘อีอีซี’ ดันพื้นที่เชิงพาณิชย์บูม!!

S 65953992

แหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 6,000 ตารางเมตรใน 8 สถานี (ไม่นับรวมพื้นที่จัดงานในร่ม, พื้นที่รอบนอก, สนามหญ้า และลาดจอดรถของสถานีมักกะสัน) ปัจจุบันถูกจับจองไปแล้ว 90% เพราะเอกชนเห็นว่าผู้โดยสารของแอร์พอร์ตลิงก์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเห็นโอกาสจากโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ตามนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

“เอกชนหลายรายอยากเข้าพื้นที่แอร์พอร์ตลิงก์ในช่วงนี้ เขามาแบบไม่กลัวอะไร ไม่เน้นกำไรมาก เพราะอยากมาจับจองพื้นที่ก่อน เพื่อรอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่กำลังจะประมูล บางรายเข้าพื้นที่สุวรรณภูมิไม่ได้ ก็ขอไปสถานีอื่นอย่างพญาไทก็มี” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับสถานีที่ถูกจับจองเต็มแล้วได้แก่ สถานีพญาไท, สถานีมักกะสัน, สถานีรามคำแหง และสถานีสุวรรณภูมิ แต่ก็มีบางสถานีที่ยังไม่คึกคัก ได้แก่ สถานีราชปรารภ เพราะอยู่ใกล้กับสถานีพญาไทซึ่งเป็นสถานีใหญ่ และสถานีบ้านทับช้างที่มีผู้โดยสารน้อยกว่าสถานีอื่น

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีสนามบินสุวรรณภูมิถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด ราว 3,000 ตารางเมตรและปัจจุบันถูกจองเต็มหมดแล้ว โดยมีร้านแลกเงินขนาด 7-8 ตารางเมตรเข้ามาเป็นร้านสุดท้าย ทางแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จึงมีแนวคิดจะจัดระเบียบพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีสุวรรณภูมิใหม่ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นและเพิ่มพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาได้อีก

แนวทางเบื้องต้นคือ จะย้ายร้านแลกเงินทั้งหมดไปอยู่โซนด้านใน ติดกับฝั่งสำนักงานสายการบิน และนำร้านค้าย่อยอื่นๆ เช่น ร้านเช่าไวไฟ, ร้านของที่ระลึก ย้ายมาอยู่ด้านหน้า ติดกับโซนสนามบินแทน เพราะร้านแลกเงินจะช่วยดึงดูดลูกค้าและทำให้มีผู้คนเดินทางผ่านร้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับปรุงในช่วงปลายปี 2561

นอกจากนี้ แอร์พอร์ตลิงก์มีแนวคิดจะเปิดบริการร้านอื่นๆ เช่น ร้านแลกเงิน ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนธุรกิจโรงแรมแคปซูล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน แต่เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เป็นหน่วยงานแม่ด้วย เพราะถ้าหากเปิด 24 ชั่วโมง ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้นอีกมากเช่นกัน

Avatar photo