Economics

ประชุมเฟด 9-10 มิ.ย. ‘​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดคงดอกเบี้ย 0.0-0.25%

ประชุมเฟด 9-10 มิ.ย. “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดคงดอกเบี้ยที่ 0.0-0.25% ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังเสี่ยงสูง ชี้ยังไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบ

ประชุมเฟด : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังมีความเสี่ยงสูง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังจากสหรัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับตัวสูงขึ้นจาก 41.5 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ 43.1 ในเดือนพฤษภาคม

ขณะที่ ตัวเลขการว่างงานก็ปรับตัวดีขึ้นจาก 14.7% ในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ 13.3% ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภค การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่ จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูง อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 อีกทั้งการประท้วงในประเทศ ก็อาจเป็นปัจจัยเร่งให้การแพร่ระบาด กลับมารุนแรงอีกครั้ง

ประชุมเฟด

นอกจากนี้ สหรัฐยังเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในประเทศ และสงครามการค้าที่กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ และนโยบายของเฟดในระยะข้างหน้า

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ที่ ประชุมเฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0 – 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 9 – 10 มิถุนายนนี้ โดยเฟด ยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับติดลบ หรือ ใช้นโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน เนื่องจากนโยบายดังกล่าว จะทำให้ตลาดเกิดความวิตกกังวล และส่งผลต่อเสถียรภาพในภาคการเงิน

แต่หากสถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ ทรุดตัวลงไปมากกว่านี้ ก็อาจเป็นไปได้ที่เฟดจะต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ในการ ประชุมเฟด ครั้งนี้ยังจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยมองว่าเฟดน่าจะมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการ QE อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ประชุมเฟด

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35-31.75 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.44 ต่อดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาท แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งครั้งใหม่ ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้า

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ ในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 6.0 พันล้านบาท และ 1.44 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า เทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเงินยูโรแข็งค่าสูงสุด ในรอบ 3 เดือน หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉิน เป็น 1.35 ล้านล้านยูโร และขยายระยะเวลาไปถึงกลางปี 2564 รวมทั้งยังได้แรงหนุน หลังเยอรมันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1.3 แสนล้านยูโร

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจการ ประชุมเฟด ในวันที่ 9 – 10 มิถุนายน ซึ่งคาดว่า จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่อาจส่งสัญญาณ ใช้เครื่องมือควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ช่วงอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้วกว่า 30 bps นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ขณะที่กระทรวงการคลังของสหรัฐ ต้องกู้เงินจำนวนมาก จากตลาดเพื่อใช้เยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤษภาคมลดลง 3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน ส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เนื่องจากเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไทยยังไม่เข้าข่ายเงินฝืด ตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน อีกทั้ง เป็นการลดลงจากราคาพลังงานเป็นหลัก โดย ธปท. ยังคาดว่า เงินเฟ้อปี 2564 จะกลับมาเป็นบวก แต่ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้มาก

อนึ่ง ในระยะนี้ เรามองว่า แม้กระแสเงินทุนไหลเข้า เริ่มกลับมาในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยจากความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่นักลงทุนอาจระมัดระวังมากขึ้น ต่อท่าทีของ ธปท. ที่ไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่า เกินปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงกรณีการทำธุรกรรมของผู้ค้าทองคำ ที่กระทบอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งทางการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK