Social

จากกระแส ‘วันเฉลิม’ คนทำงานผู้ลี้ภัยวิจารณ์ ‘UNHCR’ ไม่สนงาน แถมยังขัดขวาง

จากกระแส “วันเฉลิม” ถูกอุ้ม “ศักดิ์ดา แก้วบัวดี” คนทำงานอิสระด้านผู้ลี้ภัยโพสต์ วิจารณ์ UNHCR ไม่สนงานตัวเอง แถมยังขัดขวางส่งคนไปประเทศที่ 3

วันเฉลิม1

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยวัย 37 ปี ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ได้ถูกอุ้มหายไปจากหน้าคอนโดมิเนียม ขณะเดินลงมาซื้อของ

กรณีดังกล่าวทำให้สังคมบางส่วนไม่พอใจและส่งกระแสกดดันไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ติดตามตัวนายวันเฉลิมกลับมา โดยมีผู้ขอให้ ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงและนางแบบสาวชื่อดัง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ช่วยเป็นกระบอกเสียงในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยโดยตรง

แต่ ปู ไปรยา ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวผ่านอินสตราแกรมว่า ฉันสนับสนุนความสงบและเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องการเมืองอย่างมาก โดยชัดเจนว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฉันทำงานด้านมนุษยธรรม และฉันไม่ใช่นักกิจกรรม ทำงานตรงนี้เพื่อช่วยเยียวยาและส่งเสริม เป็นเรื่องยากมากที่จะอยู่เงียบ และฉันก็ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดกับเรื่องนี้ แต่นี่ไม่ใช่พื้นที่และไม่ใช่ทางต่อสู้ของฉัน

คำตอบดังกล่าวทำให้สังคมบางส่วนเกิดความไม่พอใจต่อ ปู ไปรยา และวิจารณ์ UNHCR ในประเทศไทย เพราะมองว่าเรื่องผู้ลี้ภัยทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องการเมือง เหตุใดจึงออกมาพูดเฉพาะเรื่องผู้ลี้ภัยในต่างประเทศเท่านั้น แต่กลับหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องผู้ลี้ภัยชาวไทย

วิจารณ์ UNHCR

คนทำาน วิจารณ์ UNHCR

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา นายศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงอิสระและผู้ทำงานอิสระด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ก็ได้โพสต์วิพากษ์ วิจารณ์ UNHCR ในประเทศไทย บนเฟซบุ๊กส่วนตัว Sakda Kaewbuadee Vaysse ซึ่งมีผู้แชร์ไปกว่า 7,000 ครั้งว่า

“เรื่องของ UNHCR ที่ผมพยายามจะไม่พูด เลือกที่จะเก็บเงียบมานานเพราะกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งที่ผมทำ

3 ปี 6 เดือน ที่ผมได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ได้รู้อะไรมากมายเกี่ยวกับองค์กรนี้ ซึ่งผมแทบจะไม่เห็นเลยว่าพวกเขาได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแบบจริงจัง มีกลุ่มผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ เช่น ปากีสถาน โซมาเลีย คองโก เวียดนาม เกาหลีเหนือ ฯลฯ ที่หลบอยู่ตามซอกหลืบของกรุงเทพ 6,000 คน และถูกกักขังอยู่ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกจำนวนนับพันคน แต่ทาง UNHCR ไม่เคยพูดถึงกลุ่มคนเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่ขอรับบริจาคให้ผู้ลี้ภัยในประเทศอื่นๆ และพูดถึงแต่เคสดังๆ เท่านั้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหลายครอบครัว ให้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม เช่น แคนาดาและฝรั่งเศส พวกเขาเหล่านั้นได้ยื่นเรื่องกับ UNHCR แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยใช้ข้ออ้างสารพัด เช่น ติดเรื่องเอกสารบ้าง สัมภาษณ์ไม่ผ่านบ้าง และหนึ่งในข้ออ้างที่ผมกังขาคือ ได้ประสานงานให้แล้ว แต่ประเทศปลายทางไม่รับ ก็เลยทำอะไรไม่ได้ แต่เดี๋ยวนะ UNHCR เป็นองค์กรใหญ่ระดับโลก มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย มีเจ้าหน้าที่หลายพันคน มีคอนเนคชั่นและความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ดันบอกว่าไม่สามารถช่วยได้

แต่ผมเป็นคนธรรมดาๆ คนนึง ไม่ได้ทำงานองค์กรใดๆ ไม่ได้มีคอนเนคชั่นกับประเทศไหน แต่ผมสามารถส่งกลุ่มคนเหล่านี้ไปประเทศที่สามได้ และส่งไปหลายครอบครัวแล้วด้วย ข้ออ้างของ UNHCR มันจึงฟังไม่ขึ้น นั่นหมายความว่า พวกเขาไม่ได้ทำงานของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเลย เพราะถ้าผมทำได้ ทำไมองค์กรของคุณถึงทำไม่ได้หรือ? อยากฟังคำอธิบายมากๆ

วิจารณ์ UNHCR
ศักดิ์ดา แก้วบัวดี

มีอยู่หลายครั้งที่การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของผมต้องมีปัญหากับองค์กรนี้ แต่ที่หนักที่สุดก็คือการที่ผมโดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ของ UNHCR หลายต่อหลายเคส ยกตัวอย่างเคสของครอบครัวม้ง 7 คน ผมได้โพสต์เรื่องราวของครอบครัวนี้ไว้ ที่นี่ ลองอ่านดู

ตลอดระยะเวลาที่นาย Nhia ถูกขังเป็นเวลา 10 ปี UNHCR ปฏิเสธทุกครั้งที่ครอบครัวนี้ยื่นเรื่องลี้ภัยไปประเทศที่สาม จนผมต้องเป็นคนยื่นเรื่องกับประเทศปลายทางด้วยตัวเอง กระทั่งได้รับการตอบรับ ทาง UNHCR ก็รับรู้ว่าผมทำอะไรบ้าง ทั้งเรื่องเอกสารและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่พวกเขาก็ยืนมองอยู่ใกลๆ ไม่ได้ช่วยเหลือใดๆ แม้แต่บาทเดียว

ผมได้เจอกับ UNHCR (คนไทย) ตลอดตั้งแต่วันที่ผมพาครอบครัวนี้ไปขึ้นศาล ฝากขัง ทั้งเรื่องการยื่นเอกสาร UNHCR ก็อยู่ที่ ตม. กับผมวันนั้น ทั้งเรื่องการซื้อตั๋วเครื่องบินที่ผมเป็นคนไปซื้อด้วยตนเองแล้วเอามามอบให้เจ้าหน้าที่ UNHCR ที่ ตม. ซึ่งผมเองก็เป็นคนที่เดินทางพาครอบครัวนี้ไปฝรั่งเศสเองด้วย

แต่สุดท้ายวันที่จะเดินทาง ผมได้โทรไปถามเจ้าหน้าที่ UNHCR ถึงกำหนดการเวลาส่งตัวออกจาก ตม. เพื่อไปสนามบิน แต่ผมได้รับการปฏิเสธให้รับรู้ข้อมูล พวกเขาขัดขวางผมในการช่วยเหลือ โดยบอกผมว่าผมเป็นแค่คนนอกไม่ได้มีตำแหน่งและหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ไม่มีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลใดๆ ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และที่สำคัญผมจะต้องเป็นคนพาครอบครัวนี้ไปด้วย ถ้าผมไม่เจอกันที่สนามบินแล้วจะทำยังไง แต่อย่างไรก็ตาม UNHCR ก็ไม่ยอมฟัง วันนั้นจำได้ดีว่าผมโมโหมากและด่ากราด UNHCR จนเขาต้องตัดสายผมทิ้ง

ผมจึงต้องติดต่อสถานทูตของประเทศปลายทางด้วยตัวเองเพื่อเอาข้อมูลของกำหนดการ จนในที่สุดก็ได้ไปเจอกันที่สนามบิน และผมก็คิดอยู่ตลอดว่าผมทำเกินหน้าเกินตาองค์กรนี้ไปหรือเปล่า แทนที่จะส่งเสริมกันช่วยเหลือกัน แต่กลับกลายเป็นโดนขัดขวางซะนี่

อย่างไรก็ตามก็ต้องขอบคุณ UNHCR เพราะทุกเคสที่ถูกปฏิเสธแล้วผมได้ช่วยเหลือติดต่อประเทศปลายทางให้ไปประเทศที่สาม ตามกฏแล้ว สุดท้ายถ้าต้องการจะออกจากประเทศนี้ได้ ก็ต้องส่งให้ UNHCR เป็นคนจัดการเรื่องการส่งตัวอยู่ดี”

100088939 3085253114890132 8499563910246957056 n

รู้จัก UNHCR

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากประเทศ เนื่องจากสงคราม ความขัดแย้งและความรุนแรง ถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อเป็นผู้นำในการดำเนินงานระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและการหาทางออกให้กับปัญหาของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

สำหรับ UNHCR ประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรเอกชน (NGOs) เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่พักพิงในค่ายที่พักพิงชั่วคราวในประเทศ ตามคำเชิญของรัฐบาลไทยในปี พ.ศ. 2518 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าหน้าที่ชาวไทยและต่างชาติราว 180 คน ส่วนหนึ่งทำงานในสำนักงานกรุงเทพฯ และมากว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดกาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของ UNHCR ประเทศไทยระบุว่า UNHCR คือการทำงานเพื่อสังคมและให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการเมืองโดยกฎบัตรและมติของ UN ได้มอบหมายให้ทางหน่วยงานทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศและค้นหาแนวทางแก้ไขที่ถาวรสำหรับผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่นๆ ในความห่วงใยของ UNHCR

อย่างไรก็ตาม UNHCR ประเทศไทย ยังไม่ได้ชี้แจงหรือแสดงจุดยืนใดๆ ต่อกรณีที่นายวันเฉลิมหายตัว รวมถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ UNHCR ประเทศไทย บนโซเชียลมีเดีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo