Finance

จับตาเงินบาทแข็งค่า! คาดแกว่งกรอบ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่า ต่อเนื่อง คาดแข็งค่าอยู่ในกรอบ 31.00 – 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ด้าน “แบงก์กรุงศรี” คาดสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.35 – 31.75 ต่อดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิหุ้น และพันธบัตรไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เงินบาทแข็งค่า ขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จากผลของเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า และปัจจัยเฉพาะของไทย อาทิ การส่งออกทองคำที่หนุนดุลการค้าถึงกว่า 98% ในเดือนเมษายน และการนำเงินกลับเข้าประเทศ

ทิศทางเงินบาทในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทแข็งค่า อยู่จากการที่ไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ราว 4.9% ของจีดีพีตามประมาณการของ สศช. อีกทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์ของเงินดอลลาร์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ ยังไม่นิ่ง

เงินบาทแข็งค่า

ขณะที่เหตุจลาจลอาจทำให้ความเสี่ยงในการระบาดระลอกสองเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลเสียต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และในอีกด้านหนึ่ง เฟดก็คงต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก จึงยังต้องรอประเมินโอกาสที่เฟดจะใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดังนั้นคาดว่า มีโอกาสที่เงินบาท จะแข็งค่าไปอยู่ในกรอบ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ธปท. ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเน้นการดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผิดไปจากปัจจัยพื้นฐาน เพื่อเลี่ยงผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณล่าสุด สะท้อนว่า ธปท. น่าจะอยู่ระหว่างการติดตามธุรกรรมทางการเงินที่อาจจะมีผลต่อความผันผวนของเงินบาทใน 2 ส่วน ได้แก่ ธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำ โดยเฉพาะ ในช่วงที่ปริมาณการส่งออกทองคำ ยังอยู่ในระดับสูง และการทยอยกลับเข้าซื้อพันธบัตร ระยะต่ำกว่า 1 ปีซึ่งสะท้อนการกลับเข้ามาพักเงินระยะสั้นอีกครั้ง ของนักลงทุนต่างชาติ และอาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

เงินบาทแข็งค่า

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35 – 31.75 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.44 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดย เงินบาทแข็งค่า สุดในรอบ 2 เดือนครึ่งครั้งใหม่ ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้า

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น และพันธบัตรไทย 6.0 พันล้านบาท และ 1.44 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า เทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

เงินยูโรแข็งค่าสูงสุดในรอบ 3 เดือน หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเป็น 1.35 ล้านล้านยูโร และขยายระยะเวลาไปถึงกลางปี 2564 รวมทั้ง ยังได้แรงหนุนหลังเยอรมนี ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.3 แสนล้านยูโร

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 9-10 มิถุนายน ซึ่งคาดว่า จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่อาจส่งสัญญาณ ใช้เครื่องมือควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ช่วงอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้วกว่า 30 bps นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน

ขณะที่กระทรวงการคลังของสหรัฐ ต้องกู้เงินจำนวนมากจากตลาด เพื่อใช้เยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมลดลง 3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน ส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เนื่องจากเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน

อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไทยยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน อีกทั้งเป็นการลดลงจากราคาพลังงานเป็นหลัก

ทั้งนี้ ธปท.ยังคาดว่า เงินเฟ้อปี 2564 จะกลับมาเป็นบวก แต่ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้มาก

ในระยะนี้ มองว่าแม้กระแสเงินทุนไหลเข้า เริ่มกลับมาในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย จากความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่นักลงทุนอาจระมัดระวังมากขึ้นต่อท่าทีของธปท. ที่ไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่า เกินปัจจัยพื้นฐาน รวมถึง กรณีการทำธุรกรรมของผู้ค้าทองคำ ที่กระทบอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทางการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo