Politics

‘รมว.ศธ.’ เตรียมถกออมสิน เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินครู!

“รมว.ศึกษาธิการ” เตรียมถก “ธนาคารออมสิน” อีกรอบ จ่อคลอดโครงการ “แก้ปัญหาหนี้สินครู” ยึดหลักลดดอกเบี้ย ยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้น

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการ แก้ปัญหาหนี้สินครู ว่า เมื่อเร็วๆ นี้นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ได้ร่วมประชุมกับธนาคารออมสินให้ตนรับทราบแล้ว ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังคงยึดหลักการเดิมที่เป็นโครงการ “ลดดอกเบี้ย ยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้น เพิ่มสภาพคล่องให้ครู” โดยเชื่อว่า แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว จะเป็นแนวทางที่ดีอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากขณะนี้ ธนาคารออมสิน ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ ให้ประชาชนเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งมาตรการนี้ ข้าราชการครู ได้รับสิทธิพักชำระหนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น อยากให้สิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ จากธนาคารออมสินก่อน

แก้ปัญหาหนี้สินครู

“สำหรับข้อสรุปการแก้ไขหนี้สินครูยังบอกไม่ได้ในตอนนี้ ขอคุยรายละเอียดกับธนาคารออมสิน และสถาบันการเงินอื่นๆ ให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ของครูมากที่สุด โดยหลังเสร็จสิ้นมาตรการพักชำระหนี้ จากธนาคารออมสิน ผมจะชี้แจงรายละเอียดข้อสรุปทั้งหมด ให้รับทราบพร้อมกัน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ครูไม่ต้องกังวล เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เป็นนโยบายสำคัญ ที่ผมต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาแบบระยะยาวให้ อีกทั้ง ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เข้าไปดูสถาบันการเงินต่างๆ ที่ครูเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดังนั้น ขอให้กระบวนการ แก้ปัญหาโควิด คลี่คลายไปก่อน ทั้งนี้ ครูจะได้รับประโยชน์จากโครงการแก้ไขหนี้สินครู ที่ ศธ. กำลังเดินการให้อย่างแน่นอน

แก้ปัญหาหนี้สินครู

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษาในเบื้องต้นแล้ว ได้รายงานให้นายกฯ รับทราบถึงข้อเสนอของคณะกรรมการ แก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรของ ศธ. ที่มีนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียด ภาพรวมการแก้ปัญหาครั้งนี้ จะดูประเด็นในเรื่องของ การปรับลดดอกเบี้ย และเงินต้นที่จะต้องพัก หรือผ่อนคลายให้ครูสามารถหายใจ ได้ในชีวิตประจำวันแต่ละเดือน โดยจะเร่งผลักดันให้เร็วที่สุด คาดว่าไม่เกินเดือนมีนาคมนี้ จะเห็นรูปแบบที่เหมาะสม และเสนอให้กระทรวงการคลัง (กค.) พิจารณาต่อไป

“การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ครั้งนี้ จะดูภาพรวม ทั้งการปรับลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ เพื่อผ่อนคลายให้ครูสามารถหายใจได้ ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละเดือน ผมทราบดี ถึงความกดดันในการใช้ชีวิตของข้าราชการเงินเดือน อย่างครู ที่มีภาระต่างๆ ให้แบกรับ และในช่วงวิกฤต ก็พยายามหาช่องทาง ให้มีโอกาสขยับตัวได้คล่องมากขึ้น ในเรื่องของการเงิน อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ จะต้องออกโดย กค. ในส่วนของ ศธ. เป็นเพียงนำเสนอแนวทาง ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสม เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ และจะรีบผลักดันให้เห็นผลโดยเร็ว” นายณัฏฐพล กล่าว

ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำให้พยายามทำเรื่องนี้ให้ดี ทำให้เหมาะสมที่สุด เพราะอาจจะนำไปเป็นต้นแบบ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ข้าราชการทั้งระบบ ทั้งนี้ จากที่ได้พูดคุย ไม่ได้หมายความว่า มาตรการที่คณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สินฯ เสนอมา มีความเหมาะสม แต่ส่วนตัวคิดว่า เป็นมาตรการที่จะทำให้ครูมีกำลังใจ ในการขับเคลื่อนการทำงาน ไม่กระทบในส่วนของภาพรวมประเทศ

ด้านนายสำคัญ จงโกเย็น เลขาธิการศูนย์ประสานงาน การแก้ปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาหนี้สินครู อยู่ในขั้นวิกฤต โดยจากสถิติพบว่า มีครูกว่า 4 แสนราย หรือคิดเป็น 80% จากครูทั่วประเทศ มีหนี้จำนวนมาก เฉลี่ยแล้วมีหนี้รายละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ได้แก่ สวัสดิการสินเชื่อ กองทุนบำเหน็จพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อชำระหนี้เงินกู้ (ช.พ.ค.) ประมาณ 4 แสนล้านบาท, หนี้สหกรณ์ครู ประมาณ 7 แสนล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 16% ของมูลหนี้ทั้งประเทศ

โดยสาเหตุ ที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินครู ที่มีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากการที่มีความต้องการปัจจัยสี่ เรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว และ ความไม่มีวินัยของครู และ ความไม่มีวินัยของสถาบันการเงิน เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo