COVID-19

ร้านค้าต้องรู้ 10 วิธีป้องกัน มิจฉาชีพ ใช้ช่องโควิด ฉกข้อมูล

ระวัง มิจฉาชีพ ใช้ช่วงโควิด สวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่หลอกกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น แนะ 10 ข้อป้องกันก่อนเป็นเหยื่อ

ว่าที่ ร.ต.ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานน่าน (ผอ.ททท.น่าน) เปิดเผยว่า ททท.น่าน ขอแจ้งเตือนประชาชนว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้านการให้บริการ ซึ่งมีมาตรการต่างๆ มากมายที่ต้องปฏิบัติตามตามมาตรการที่รัฐกำหนด เพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้เกิด มิจฉาชีพ ใช้ช่องทางดังกล่าวหลอกลวงร้านค้า

ระวัง มิจฉาชีพ

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ไปติดต่อประสานงานให้คำแนะนำ รวมทั้งตรวจสอบหรือสอบถามรายละเอียดต่างๆ หรือให้สมัครข้อมูลต่างๆ เช่น การใช้คิวอาร์โค้ด แอปพลิเคชั่น ไทยชนะ ที่ร้านค้าทุกแห่งต้องมี เพื่อให้กรมควบคุมโรคสามารถติดตามนักท่องเที่ยว หรือลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้

ทั้งนี้ การให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และควรดำเนินการ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ขอเตือนผู้ประกอบการให้สังเกตและระมัดระวัง เพราะอาจจะมีมิจฉาชีพที่แฝงตัวมา หรือแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ เพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆบนคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ หรืออาจข่มขู่ กระทำการเรียกรับผลประโยชน์อื่นใด

ดังนั้น ททท.น่าน ได้แนะนำวิธีป้องกัน 10 ข้อเบื้องต้น ดังนี้

1. ขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ และถ่ายภาพบัตรนั้นเป็นหลักฐาน (ด้านหน้า-ด้านหลัง) สังเกตวันเดือนปีที่หมดอายุด้วย

2. ถ่ายภาพบุคคลที่มาติดต่อไว้เป็นหลักฐาน ถ่ายภาพยานพาหนะ ทะเบียนรถ ป้ายตราสัญลักษณ์หน่วยงานที่อยู่ข้างรถ หรืออยู่ส่วนใดของรถ (ถ้ามี)

 

3. ระมัดระวังการให้โทรศัพท์มือถือแก่บุคคลอื่น ไปทำธุรกรรมแทนเรา เช่น ลงทะเบียนกรอกข้อมูลต่างๆ หากท่านทำธุรกรรมด้วยตนเอง โดยทำตามขั้นตอนที่เขาแนะนำ ต้องระมัดระวังการให้ข้อมูลอย่างรอบคอบ เช่น วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน รหัสผ่านต่างๆ และควร capture หน้าจอไว้ทุกขั้นตอน

nan

4. หากไม่จำเป็นอย่าให้ข้อมูลสำคัญที่อาจเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้

5. ระมัดระวังการให้เอกสารหรือถ่ายสำเนาเอกสาร ควรระบุว่าเอกสารใช้ทำอะไร ขีดคร่อมและลงวันที่เวลาด้วย

6. ควรมีบุคคลใกล้ชิดอยู่เป็นเพื่อนหรือเป็นพยานรับรู้ด้วยยิ่งดี

 

7. หน่วยงานของรัฐจะปฏิบัติงานในส่วนไปให้บริการ ไปให้คำแนะนำตามข้อกำหนดของกฎหมาย จะไม่มีการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ

8. จดชื่อ เบอร์โทรติดต่อและลองโทรศัพท์ในช่วงเวลานั้น เพื่อเช็คว่าโทรได้จริงหรือไม่

9. หากไม่แน่ใจให้สอบถามข้อมูลจากต้นสังกัดของบุคคลที่อ้างตัวมาติดต่อ หรือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ

10. จดบันทึกข้อมูลไว้เป็นข้อมูลช่วยจำว่า บุคคลใด หน่วยงานใด ได้เข้ามาประสานงานติดต่อเรื่องอะไร ในวัน และเวลาใด มากี่คน ติดต่อเขาได้ทางใด ใครเป็นพยานรู้เห็นในวันนั้น

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการป้องกันเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ใช้ช่องทางยุค New Normal หลอกลวงหาผลประโยชน์ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ร้านค้าต้องระมัดระวัง ในการให้ข้อมูลส่วนตัวทุกครั้ง และมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ ททท.น่าน ยังเน้นย้ำว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวและเข้าพักในพื้นที่จังหวัดน่าน ให้ดําเนินชีวิตตามวิถีแนวใหม่ (New Normal) ที่สำคัญคือ การเช็คอิน และ เช็คเอาท์ เมื่อเข้าใช้บริการ และออกจากที่พัก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการลงทะเบียนผ่าน “ไทยชนะ” และบันทึกข้อมูล ณ สถานที่พัก หรือแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ

ในส่วนของการเดินทางไปยังจังหวัดน่าน ล่าสุดมีการเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง ดังนี้

1. เด่นชัย-แพร่-น่าน รถตู้วิ่งวันละ 9 เที่ยว เริ่มเที่ยวแรกเวลา 07.00 น. เที่ยวสุดท้าย 17.00 น.

2. ระยอง – น่าน จำนวน 1 เที่ยว เวลา 18.00 น.

3. เชียงใหม่ – น่าน เริ่มวิ่ง 4 มิ.ย. จำนวน 1 เที่ยว เวลา 14.00 น.

Avatar photo