COVID-19

เพื่อความอยู่รอด! แอร์เอเชียเลิกจ้าง 30% ลดเงินเดือน 75% ขายหุ้น 10%

ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัดรายใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “แอร์เอเชีย กรุ๊ป” เตรียมลดจำนวนพนักงานลง 30% ขณะที่ “โทนี เฟอร์นันเดส” ผู้ก่อตั้งเล็งขายหุ้น 10% เพื่อระดมเงินสด

airasia

ในความพยายามอย่างหนักที่จะสกัดวิกฤติกระแสเงินสด ซึ่งเกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทาง และการท่องเที่ยวในภูมิภาคตกอยู่ในภาวะหยุดนิ่งนั้น แอร์เอเชีย ยังมีแผนที่จะลดเงินเดือนพนักงานที่เหลืออยู่ สูงสุดถึง 75% ในความพยายามที่จะรักษาธุรกิจเอาไว้

แผนการปรับลดในด้านต่างๆ ของบริษัท ยังรวมถึง การลดจำนวนลูกเรือ และนักบินลง 60% ทั้งในแอร์เอเชีย และแอร์เอเชียเอ็กซ์ บริษัทลูกที่ให้บริการเส้นทางบินในระยกลาง ซึ่งในปัจจุบัน แอร์เอเชีย กรุ๊ป มีธุรกิจอยู่ทั้งในมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย และฟิลิปปินส์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา แอร์เอเชียดำเนินการประเมินพนักงานของบริษัท ที่มีอยู่ราว 20,000 คนไปเกือบทั้งหมดแล้ว โดยมีพื้นฐานการประเมินอยู่บนระดับเงินเดือน และผลประกอบการ ซึ่งคาดว่าการเลิกจ้างจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

แหล่งข่าวหลายราย ระบุว่า แอร์เอเชีย ที่นายเฟอร์นันเดส ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น อาจจะขายหุ้น 10% เพื่อระดมเงินสด โดยที่ “เอสเค คอร์ป” กลุ่มบริษัทรายใหญ่สุดอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งใน 3 บริษัทข้ามชาติ ที่แสดงความสนใจจะเข้าซื้อ ซึ่งหนังสือพิมพ์เดอะ สตาร์ ของมาเลเซีย ระบุว่า เอสเคคอร์ป อาจยื่นข้อเสนอซื้อในราคาหุ้นละ 1 ริงกิต (ประมาณ 0.23 ดอลลาร์) ซึ่งจะทำให้มูลค่าการซื้อขายอยู่ราว 78.4 ล้านดอลลาร์

การขายหุ้นครั้งนี้ ไม่ต้องรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการอนุมัติถึงการเพิ่มหุ้นใหม่สูงสุด 10% ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ไปแล้ว

แอร์เอเชีย ได้ขอให้พนักงานที่เหลืออยู่ลดเงินเดือนลงราว 15-75% นอกเหนือจากการลดสวัสดิการหลายด้านลงอย่างมาก ทั้งนายเฟอร์นันเดส ยังได้ลดการใช้จ่ายเงินทุนของสายการบิน รวมถึง เงินทุนในการดำเนินงานทั้งหมดด้วย โดยก่อนหน้านี้ ทั้งเขา และนายกามารุดิน เมรานัน ผู้ร่วมก่อตั้งแอร์เอเชีย ต่างเห็นพ้องที่จะไม่รับเงินเดือนในช่วงเวลานี้

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่ง ระบุว่า นายเฟอร์นันเดส ยังอยู่ระหว่างการหาทางขายหุ้นที่ถืออยู่ในสายการบินที่ไม่ทำกำไรทั้งในญี่ปุ่น และอินเดีย
“เฟอร์นันเดส เปิดทางที่จะลดการถือหุ้น หรืออาจถึงขั้นถอนตัวจากการลงทุนในญี่ปุ่น และอินเดีย เพราะความซับซ้อนของอุตสาหกรรมท้องถิ่น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการขายทิ้ง”

Avatar photo