General

CPTPP คือ อะไร ทำไมคนต้องต่อต้าน

CPTPP คือ อะไร อาจเป็นสิ่งที่หลายๆ คนกำลังตั้งคำถามอยู่ หลังจากที่เห็นแฮชแท็ก #คัดค้านCPTPP  #NoCPTPP และ  #ไม่เอาCPTPP กลับมาเต็มโลกโซเชียลมีเดียอีกครั้ง

CPTPP ย่อมาจาก  Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม แต่มีเพียง 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม

CPTPP ๒๐๐๖๐๖ 0003

ข้อตกลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงมาจาก TPP (Trans-Pacific Partnership) ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเคยมีสหรัฐเข้าร่วมด้วย แต่ภายหลังได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560

แต่ประเทศสมาชิกที่เหลือ ยังเดินหน้าความตกลงต่อภายใต้ชื่อใหม่นี้  โดยครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐาน และกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาล และนักลงทุนต่างชาติ

รายละเอียดในข้อตกลงมีอยู่หลายอย่าง ที่ทำให้ภาคประชาสังคมเกิดความกังวล โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า หากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลง CPTPP แล้ว จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกได้ และจะต้องซื้อผ่านบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะเศรษฐกิจ และราคาพืชผลที่ตกต่ำ ส่งผลดีต่อกลุ่มทุนยิ่งได้กำไร อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก

ข้อกังวลของกลุ่มคัดค้าน 

  • การเข้าร่วมความตกลงนี้จะส่งผลให้ไทยต้องแก้กฎหมายบางฉบับที่อาจเกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรและระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช การคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมถึงการคุ้มครองการลงทุนให้ชาวต่างชาติ
  • ไทยต้องเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 ว่าด้วยพันธุ์พืชทันทีหากเข้าร่ว ซึ่งอนุสัญญานี้ให้ความคุ้มครองบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรในการผูกขาด เมล็ดพันธุ์ยาวนานถึง 15-20 ปี ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกรอบเพาะปลูก
  • เนื้อหาในข้อตกลงหลายส่วนที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุข เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) ข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา
  • ทำให้การใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือ (Compulsory Licensing หรือ CL) ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามบทคุ้มครองการลงทุน

CPTPP คือ

อย่างไรก็ดี การเข้าร่วม CTTPP ก็มีข้อดีอยู่ด้วยเช่นกัน โดยในด้านการส่งออกนั้น จะช่วยเพิ่มโอกาสของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศ  ซึ่งข้อตกลงนี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก

สุดท้ายคือเรื่องของแรงงาน และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน การอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP นั้น  จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว

ขณะที่ข้อเสียของการเข้าร่วม แบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่คือ

  • ทรัพย์สินทางปัญญา

เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้นจากอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ที่จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่ได้ลิขสิทธิ์ในพันธุ์พืชนั้นๆ

  • ธุรกิจบริการ

เงื่อนไขการเจรจาแบบ Negative list คือ ประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการ ที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนหมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติ จึงอาจมีแรงกดดันให้ไทยต้องเปิดตลาดบริการมากขึ้น

  • การลงทุน

เปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ไทยต้องเตรียมรับมือกับการรุกตลาดของต่างชาติ และนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า หากไทยเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP อาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกมากนัก ท่ามกลางความสามารถทางการแข่งขันของไทยที่ถดถอยอยู่ในปัจจุบัน

แต่มาตรฐานที่สูงของ CPTPP ในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และด้านอื่นๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการเข้าถึงยา และกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบ​การรายย่อย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP หรือไม่ ในอนาคตไทยก็คงไม่สามารถเลี่ยงการปรับตัว เพื่อให้เข้ากับมาตรฐานเหล่านี้ได้

ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ภาครัฐจำเป็นต้องคิดถึงประเด็นเชิงสังคมเหล่านี้ รวมถึง การเร่งพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์ จากการเจรจาการค้าเสรี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสูงที่สุด และเกิดผลกระทบเชิงสังคมน้อยที่สุด

Avatar photo