Business

บีโอไอ สนับสนุนผู้ประกอบการไทย ลงทุน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รับอานิสงส์วิกฤติโควิด-19 สร้างโอกาสทองผู้ประกอบการไทย ปั้นแบรนด์แข่งต่างประเทศลดการนำเข้า ภาครัฐลั่นพร้อนหนุนลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) จัดสัมมนาออนไลน์ Subcon Thailand Webinar#1  “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทิศทางและโอกาสผู้ประกอบการไทยในการลงทุนใน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์” ขึ้น

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รับอานิสงส์โควิด

นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองบริหารการลงทุน 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกในปี 2021 คาดการณ์ว่า จะมีมูลค่ารวม 342.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการประเมินจากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต รวมไปถึงวิถีชีวิตของการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ ที่ให้ความใส่ใจด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาสุขอนามัยมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้อานิสงส์จากการเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์พุ่งเกินกว่า 350 ล้านดอลล่าร์สหรัฐได้ไม่ยาก

จากผลสำรวจของ Emergo Group ในปี 2559 จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 4,400 คน ยังระบุว่า เอเชียมีโอกาสในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์สูง โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้งไป อาทิ หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เครื่องมือป้องกันการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ส่วนเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไฮเทค ยังต้องอาศัยเทคโนโลยีจาก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งอาจต้องมีการร่วมลงทุน

SUBCON Thailand Webinar TECHTALK11 1

สำหรับประเทศไทย หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคการค้า ธนาคารออมสิน ระบุว่า ปี 2019 ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 195 ประเทศ ที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ และมั่นใจว่าจากสถานการณ์โควิด -19 จะทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นอีกแน่นอน ในขณะที่ปัจจุบัน ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 18 ในการจัดอันดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสุขภาพโลก โดยไทยมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI มากที่สุดในภูมิภาคเซาท์อีสเอเชีย และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขคาดการณ์ของปี 2019 ที่ระบุว่า ไทยจะมีการเติบโตทางด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์มากถึง 8-10% ซึ่งจากการรับมือกับสถานการณ์โควิด -19 เชื่อว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยจะได้รับการยอมรับจากหลายมากขึ้น จากมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ส่วนการนำเข้ายังสูงเป็นอันดับ 2 และมีสถิตินำเข้าที่มีอัตราสูงขึ้นทุกปี โดยขณะนี้ไทยมีบริษัทที่ทำธุรกิจเครื่องมือแพทย์ราว 3,000 บริษัท โดย 70% ยังเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ

จากตัวเลขดังกล่าว รัฐบาลพยายามปรับฐานการนำเข้าของไทยให้ลดลง ด้วยการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการไทย ให้หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์มากขึ้น เพราะยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมหาศาล และไทยก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพพอเพียง

เครื่องมือแพทย์

นายสุทธิเกตติ์ กล่าวอีกว่า โอกาสทางธุรกิจในวันนี้และต่อๆไป ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มการผลิตอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะจะเป็นสิ่งที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก อาทิ ความต้องการหน้ากากอนามัย 89 ล้านชิ้นต่อเดือน ชุดป้องกันการติดเชื้อต่างๆ (GOWNS) 30 ล้านชิ้นต่อเดือน หน้ากากทางการแพทย์ 1.59 ล้านชิ้น หน้ากากยาง ถุงมือยาง 76 ล้านชิ้น เจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ 2.9 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นต้น

ในขณะที่ตลาดในประเทศไทย จากกำลังการผลิตหน้ากากในประเทศ ขณะนี้สามารถผลิตได้ 2.5 ล้านชิ้นต่อวัน จากจำนวนประชากรไทยที่มีเกือบ 70 ล้านคน ไม่รวมความต้องการใช้งานจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหน้ากากอนามัย และชุด พีพีอี ที่ยังมีความต้องการใช้งานค่อนข้างสูง รวมไปถึง การผลิตหุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อมาช่วยลดการสัมผัส ก็เป็นความต้องการที่เป็นบวกทางภาคอุตสาหกรรม

สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องการ คือ การสร้างให้ไทยมีแบรนด์เครื่องมือทางการแพทย์ของตัวเอง เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพื่อลดการนำเข้า เครื่องมือแพทย์ ที่มีแนวโน้มการนำเข้าสูงขึ้นทุกปี และในวันนี้โอกาสทางธุรกิจผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มสดใส ผู้ประกอบการควรหาโอกาสทางการผลิตและช่วยกันลดการนำเข้า

ถุงมือยางทางการแพทย์

ขณะที่บีโอไอจะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีแพคเกจที่ท็อปอัพขึ้นหลายโครงการ อาทิ การสร้างอีโคซิสเต็มสนับสนุนการคิด และการลงทุน ด้วยการบูรณาการเรื่องต่างๆ ร่วมกัน มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การสนับสนุนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมไปถึงการสนับสนุนกำลังคน พัฒนาทักษะให้มีความพร้อมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มเป็น 2 เท่า เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการลงทุนการผลิต เครื่องมือแพทย์ เอเชียและไทย มีความโดดเด่นเรื่องเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้ง เพราะไทยมีทักษะด้านวิศวกรรม สามารถพัฒนาและผลิตเครื่องที่เรียกว่า Telemedical Craft ที่ช่วยเชื่อมต่อกันระหว่างผู้ป่วยกับหมอ หน้ากากยาง ท่อสายยาง ซิลิโคน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้การลงทุนไม่เยอะ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมจะออกใบรับรอง ในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความรวดเร็วในการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ

ด้านนางซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการ กองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน บีโอไอ กล่าวต่อว่า ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2563 ที่ศูนย์นิทรรศการและงานแสดงสินค้า ไบเทค บางนา บีโอไอ จะจัดงาน ซับคอนไทยแลนด์ 2020 คู่ขนานกับงานอินเตอร์แมค 2020 ภายในงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย ที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการทั่วไป รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์

Avatar photo