COVID-19

ฆ่าตัวตาย จ่อพุ่งสูง 6 เดือนหลังโควิด จี้รัฐเตรียมพร้อม ดูตัวอย่าง ‘ต้มยำกุ้ง’

ฆ่าตัวตาย ในไทยจ่อพุ่งสูงขึ้นช่วง 6 เดือน หลังหมด “วิกฤติโควิด-19” เหตุเศรษฐกิจแย่ คนไม่มีเงิน จี้รัฐเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ พร้อมรับมือสถานการณ์

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ความกดดันทางด้านการเงิน เพราะขาดรายได้ในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดธุรกิจเกือบทั้งหมด กลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง

ฆ่าตัวตาย

แม้ตัวเลขทางการจะแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยมีอัตราเฉลี่ยการฆ่าตัวตายลดลง แต่ “สมาคมสะมาริตันส์ แห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ระบุว่า มีผู้คนโทรศัพท์เข้ามายังสายด่วนขององค์กรในแต่ละวันสูงกว่าปกติราว 3-5 เท่า นับแต่ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาส่วนใหญ่ จะมีความกังวลในเรื่องปัญหาทางการเงิน

รอยเตอร์บอกว่า ในความพยายามที่จะบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากการที่กิจการต่างๆ ต้องปิดตัวลงทั้งแบบถาวร และชั่วคราว เป็นจำนวนมากนั้น รัฐบาลไทยได้ดำเนิน มาตรการเยียวยา 15,000 บาท ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ในจำนวนผู้ที่ยื่นคำร้องเข้าไป 24 ล้านคนนั้น มีเพียง 15 ล้านคนเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยมีสถิติการฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ย 350 รายต่อเดือน ลดลงจากอัตราเฉลี่ยที่เดือนละ 368 รายเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการ ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ แสดงความกังวลว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ หลังจากวิกฤติการระบาดที่เกิดขึ้นอย่างกระทันทันหมดไปแล้ว แต่ปัญหาทางการเงินยังคงอยู่

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ระบุว่า มีปรากฎการณ์ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกว่า ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตินั้น อัตราการฆ่าตัวตายมักจะลดลง และจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่วิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว

เรื่องเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นกับไทยเช่นกัน อย่าง ในช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” หรือ วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ที่อัตราการการฆ่าตัวตายระหว่างปี 2541-2543 เพิ่มเป็นเฉลี่ย 8 คนต่อประชากร 100,000 คน จากเดิมที่ก่อนหน้านั้นต่ำกว่า 7 คนต่อประชากร 100,000 คน

นพ.ณัฐกร กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนหลังสถานการณ์โควิด-19 เบาลง จะเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยในการเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การฆ่าตัวตายจะรุนแรงขึ้น โดยเขาอยากให้รัฐบาลเตรียมพร้อมรับเรื่องนี้ ตั้งแต่ตอนนี้

ป้องกัน ฆ่าตัวตาย 

การฆ่าตัวตาย เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย เกิดจากโรคซึมเศร้า คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีความรู้สึกเบื่อรุนแรงแทบทุกอย่างในชีวิต เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ความเศร้าที่รุนแรงมากๆอาจทำให้คิดว่าตนเองผิด ไร้ค่า และคิดอยากตาย การตายจึงเป็นเหมือนทางออกของปัญหาในระยะสั้น ไม่ต้องเผชิญปัญหาต่อไป

ความคิดของคนจะฆ่าตัวตาย มักไม่เห็นหนทางแก้ไขปัญหา ชีวิตมืดมน และหมดหวัง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า

  • อารมณ์ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม ไม่มีความสุข เบื่อ ท้อแท้ เครียด หงุดหงิด และเศร้า
  • หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก (หรือบางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด น้ำหนักเพิ่มขึ้น)
  • นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงแล้วนอนต่อไปไม่ได้ (แต่บางคนนอนมากขึ้นเนื่องจากไม่อยากทำอะไร นอนแต่ก็ไม่หลับ)
  • เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร
  • ความคิดช้า การเคลื่อนไหวช้า
  • สมาธิความจำเสีย ตั้งใจทำงานไม่ได้ ลังเลตัดสินใจลำบาก
  • คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี
  • อยากตายและฆ่าตัวตาย

การป้องกันการฆ่าตัวตาย ทำได้ถ้าเข้าใจ โดยคนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายนั้น บางทีแสดงออกเป็นพฤติกรรมให้รู้ได้ 

  • บางคนเปรยๆให้คนใกล้ชิดฟัง เช่น “รู้สึกเบื่อจัง ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”
  • บางคนพูดเป็นเชิงฝากฝัง สั่งเสีย เช่น “ฝากดูแลลูกด้วยนะ”
  • บางคนดำเนินการบางอย่าง เช่น ทำพินัยกรรม โอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน
  • ถ้าสงสัยว่าคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ ควรถามการถามเรื่องการฆ่าตัวตายนี้สำคัญมาก ทำได้ ควรทำอย่างยิ่ง เพราะช่วยรักษาชีวิตเขาไว้ได้

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันการฆ่าตัวตาย ได้ดังนี้

  • สนใจ ใส่ใจ สังเกตตนเอง เพื่อนๆ และคนใกล้ชิด ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ ถ้ามี ให้ถามว่ามีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่
  • ถ้าตนเองเกิดโรคซึมเศร้า ให้ปรึกษาทีมสุขภาพจิตโดยเร็ว
  • แนะนำผู้ที่ซึมเศร้า มาพบทีมสุขภาพจิต

ขอบคุณข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช พยาบาล

Avatar photo