Media

‘สื่อ-ธุรกิจ’มุ่งทรานส์ฟอร์ม หวัง‘อยู่รอด’ยุคดิจิทัล

ในยุคที่เทคโนโลยี เข้ามา disrupt  อุตสาหกรรมต่างๆ ให้ต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับธุรกิจที่ต้องปรับตัวนำเสนอคอนเทนท์ในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงผู้เสพสื่อ ที่ปัจจุบันใช้เวลากับสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น

ในโอกาสเปิดตัวสำนักข่าวและเว็บไซต์ The Bangkok Insight  ได้จัดเสวนา จุดเปลี่ยนสื่อไทย : The Digital Media Transformation” เกี่ยวกับการปรับตัวในยุคดิจิทัล เพื่อโอกาสอยู่รอดและเติบโตในยุคนี้

สุทธิชัย หยุ่น ปรมาจารย์ด้านสื่อและผู้ก่อตั้ง บริษัท กาแฟดำ จำกัด
สุทธิชัย หยุ่น ปรมาจารย์ด้านสื่อและผู้ก่อตั้ง บริษัท กาแฟดำ จำกัด

สุทธิชัย หยุ่น ปรมาจารย์ด้านสื่อ และผู้ก่อตั้ง บริษัท กาแฟดำ จำกัด  มองว่าในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามา disrupt ทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวงการสื่อดั้งเดิม  “คงต้องรอวันล่มสลาย ถ้ายังทำงานแบบเดิม”  โดยเฉพาะคนทำงานข่าวและการบริหาร

ที่ผ่านมาแม้ สื่อจะรู้ว่าต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง แต่ความเคลื่อนไหวและการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบในสื่อดั้งเดิม ยังไม่ชัดเจนมากนัก

อีกทั้งรูปแบบการปรับตัว จะเป็นไปในแนวทางที่ “ต่ำลง”  เพราะเป็นการปรับไปตามกระแสตลาด “แมส”  ที่คิดว่า จำนวน  “คลิก  ไลค์ แชร์” จะเป็นตัวตัดสินทุกอย่าง  ขณะที่พฤติกรรมแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน  ดังนั้นสื่อต้องศึกษาผู้บริโภคแต่ละเซ็กเม้นต์อย่างเจาะลึก  และผลิตสื่อและคอนเทนท์ ตอบสนองแต่ละกลุ่ม

สถานการณ์วิกฤติในกลุ่มสื่อดั้งเดิม เกิดขึ้นมา 4-5 ปีแล้ว เพราะการปรับเปลี่ยนไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงวาทกรรม ว่าจะเปลี่ยน ไปสู่รูปแบบสื่อดิจิทัลมากขึ้น  แต่คนผลิตสื่อ ที่ต้องการสร้างสรรค์งานที่แตกต่าง แต่พบว่าเจ้าของสื่อหรือนายทุนอาจไม่สนับสนุน  เพราะต้องการเนื้อหาที่ เกาะกระแส มุ่งจำนวนคลิก ไลค์ แชร์ เพื่อหวังเม็ดเงินโฆษณา จึงเป็นภาวะที่ “มืออาชีพ” สื่ออยู่ได้ลำบาก และเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

วันนี้  Passion การทำงานของผม  คือการทำสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นเรื่องที่ชื่นชอบ ไม่ต้องมุ่งไปที่จำนวน แต่เจาะคนที่ชื่นชอบคอนเทนท์ที่แตกต่างและสร้างสรรค์

สื่อออนไลน์ช่องทางของ “มืออาชีพ”

ปัจจุบัน สื่อออนไลน์ และโซเชียล มีเดีย  ถือเป็นช่องทางให้ “มืออาชีพสื่อ” ได้แสดงความสามารถ สร้างสรรค์คอนเทนท์ที่เป็นประโยชน์

ต้องชื่นชมคนข่าว the bangkok insight  ที่กล้าออกจากพื้นที่เดิมๆ สู่ดิจิทัล แม้จะช้าไปหน่อยก็ตาม แต่ถ้าเป็นลูกศิษย์ ผมต้องกล้าปรับตัว”

สุทธิชัย  เชื่อว่าในยุคที่คนเข้าถึงสื่อออนไลน์จำนวนมาก เสพสื่อผ่านมือถือเพิ่มขึ้น  สื่อดั้งเดิมจะอยู่ได้ลำบาก  และสื่อที่คิดว่าปรับตัวแล้ว แต่ยังไม่ปรับอย่างจริงจัง  แม้บอกว่าตัวเองเปลี่ยน แต่เนื้อหา การทำงานไม่เปลี่ยนก็ทำงานลำบาก

ดังนั้นสื่อที่จะไปต่อ จะต้องออกมาจากวงจรเดิมๆ และกรอบความคิดเดิมทั้งหมด  และหาจุดที่คิดว่าตัวเองดีและชอบที่สุด เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนท์คุณภาพและแตกต่าง  เชื่อว่ายังมีกลุ่มคนและผู้สนใจต้องการเสพคอนแทนท์ลักษณะนี้  และโซเชียล มีเดีย เปิดกว้างให้คนทำสื่อมืออาชีพ ใช้เป็นช่องทางเข้าถึงผู้เสพได้ทุกที่ทุกเวลา

“ผมทำ Suthichai Live ทางเฟซบุ๊ก ก็เริ่มต้นจากคนดู 5-10 คน  ดังนั้นคนที่เริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องกลัวว่า จะไม่เป็นที่รู้จักหรือจะไม่มีคนดู  เพราะหากเป็นคนมีชื่อเสียง แต่พูดคอนเทนท์ น่าเบื่อก็ไม่มีคนดูเช่นกัน”

หัวใจของการทำงานสื่อจึงอยู่ที่ “คอนเทนท์”  การหาประเด็นที่น่าสนใจที่แตกต่าง  และทำต่อเนื่อง  เพราะหากมี  Passion กับข่าว การทำงานข่าว ก็เหมือนการหายใจและการกินข้าว ที่ต้องทำทุกวัน

วันนี้ สื่อดั้งเดิมเปรียมเหมือนเรือ เอี๊ยมจุ๊นขนาดใหญ่และมีรอยรั่ว  มีผู้โดยสารจำนวนมาก เมื่อเผชิญพายุใหญ่กลางมหาสมุทร  ที่พัดกระหน่ำทุกทิศทาง เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก  และยากที่จะหลบหลีก ส่วนผู้โดยสารไม่ช่วยอุดรูรั่ว  กัปตันเรือก็ไม่ตัดสินว่าจะไปทิศทางใด และไม่รู้ว่าจะไปรอดหรือไม่ เรือใหญ่ก็ค่อยๆ จมน้ำลงเรื่อยๆ

ผมจึงขอแนะนำให้ สละเรือใหญ่ ลงสปีดโบ้ท  แบ่งกันไปลำเล็กๆ และทุกคนต้องช่วยกันทำงานทุกตำแหน่งหน้าที่  เพื่อฝ่าฟันพายุ ไปข้างหน้า ที่เชื่อว่ายังมีโอกาสรอด  ลองมานัดเจอกันอีก 3 ปีข้างหน้าว่าจะเหลือใครบ้าง ในพายุใหญ่ที่โหมกระหน่ำสื่อดั้งเดิมในขณะนี้”

รัฐกร สืบสุข เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย)
รัฐกร สืบสุข เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย)

 งบโฆษณาสื่อดั้งเดิมคงที่-แข่งขันราคา

ทางด้าน  รัฐกร สืบสุข เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย)  กล่าวว่าเม็ดเงินโฆษณาสื่อดั้งเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น และในระยะอีก 5 ปี ข้างหน้าก็จะไม่เพิ่มขึ้น  ขณะที่ลูกค้าเจ้าของงบโฆษณา มองหาความคุ้มค่าจากการใช้เม็ดเงินก้อนเดิม  โดย “สื่อดิจิทัล” ชูจุดเด่นความคุ้มค่า ที่มีมากกว่าสื่อดั้งเดิม และลูกค้าก็มีความเชื่อแบบนั้น

ส่วนสื่อดั้งเดิมเอง ที่ต้องการอยู่รอด จึงแข่งขันกันที่ “ราคา”  จึงกลายเป็น สงครามราคาระหว่างสื่อ   แม้มุมมองลูกค้า เชื่อว่าจะได้พื้นที่โฆษณาเพิ่มขึ้น  แต่เม็ดเงินไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม เพราะมีการแข่งขันลดราคา

ดั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสื่อ ที่เรียกว่าเป็น การปฏิวัติวงการ ในแง่การวางแผนสื่อ  จากเดิมใช้ข้อมูลวัดผลจำนวนผู้เสพสื่อ และเอเยนซี เลือกวางแผนสื่อ  แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้โดยตรง  จากแพลตฟอร์มแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ที่สามารถเข้าถึงผู้เสพสื่อได้โดยตรง และรู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นใคร ซึ่งหมายถึงได้ข้ามขั้นตอนการวิจัย

แต่ปัญหาในยุคนี้ คือเกิดภาวะ “ข้อมูลล้น” จากการเสพสื่อออนไลน์จำนวนมากของผู้บริโภค ทำให้ นักการตลาดวิเคราะห์ข้อมูลยากขึ้น และไม่มั่นใจ  จึงยึดถือ “ตัวเลข” ที่จับต้องได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข คลิก ไลค์ แชร์  จึงมีคำถามเรื่องคุณภาพของข้อมูล  และมักมีคำถามว่า  “ตัวเลขจำนวนมาก ช่วยขายสินค้าได้หรือไม่”

 แนะปรับตัวสร้างความคุ้มค่าใช้สื่อ

ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ สามารถสะท้อนได้ว่า สื่อใด มีคุณภาพที่แท้จริง  เพราะหากเป็นสื่อคุณภาพ เชื่อว่า จะสร้างฐานผู้เสพสื่อได้เช่นกัน  ช่องทางการนำเสนอคอนเทนท์ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะหาก “คอนเทนท์” ที่ดี ผู้บริโภคพร้อมที่จะตามไปเสพสื่อและคอนเทนท์เอง

 หากผู้ผลิตสื่อดั้งเดิม ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงด้านแพลตฟอร์มและพฤติกรรมผู้บริโภค ยังผลิตสื่อรูปแบบเดิมๆ ก็จะลำบาก

“ปัญหาหลักของสื่อบ้านเรา คือ enjoy กับความสำเร็จในอดีต และยึดติดกับความสำเร็จที่ผ่านมา  แต่ปัจจุบันหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ธุรกิจแบบเดิมขององค์กรสื่อ  ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จในอนาคตได้ หลายๆ อุตสาหกรรม ได้สะท้อนออกมาแล้วว่าไปไม่รอด เพราะโครงสร้างราคาและการแข่งขันไม่เหมือนเดิม”

องค์กรสื่อขนาดใหญ่ จะมาสู้กับคนทำงานอิสระ  ที่มีต้นทุนแตกต่างกันก็ยาก เพราะจะสะท้อนไปที่ราคาขาย เพราะต้นทุนสูง จะตั้งราคาขายต่ำ จึงเป็นไปไม่ได้   ขณะที่ลูกค้ามีโจทย์เรื่องความคุ้มค่าในการใข้สื่อสูงสุด  ดังนั้นหากต้นทุนสูง ก็จะเสียเปรียบเรื่องการแข่งขัน   วันนี้องค์กรสื่อและบุคลากรสื่อเอง หลายรายกำลังปรับตัว เพื่อหาโอกาสในโลกดิจิทัล

เอเยนซีชูบทบาทพาร์ทเนอร์ลูกค้า

ขณะที่ฝั่งเอเยนซีเองก็ต้องปรับตัว จากการรับจ้างลูกค้า วางแผนโฆษณา สู่บทบาทการเป็น “พาร์ทเนอร์” กับลูกค้า วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากและพฤติกรรมผู้เสพสื่อ  เลือกใช้สื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคตรงกลุ่ม วางแผนใช้งบโฆษณาอย่างคุ้มค่า

แต่ว่าสิ่งที่ถูกที่สุด อาจไม่ใช่สิ่งที่คุ้มค่าเสมอไป  จำนวน  Like มาก อาจไม่ได้ทำให้ยอดขายดีเสมอไป  วันนี้หากนักการตลาดหลายคนยังติดกับดัก เรื่องตัวเลข และ KPI  ก็จะได้คอนเทนท์เดิมๆ แบบเปิดคลิปยูทูบที่เป็นกระแส คลิปเล่าข่าวหนังสือพิมพ์  โดยไม่ได้ดูว่าผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว

“ตัวเลข ชี้วัดได้บางอย่าง แต่ไม่ได้ชี้วัดเรื่องคุณภาพของแต่ละสื่อได้ทั้งหมด”

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)

ธนาคารมุ่ง “ดิจิทัล แบงกิ้ง”  

ทางด้านธุรกิจธนาคาร มีความเคลื่อนไหวในการปรับตัวสู่ “ดิจิทัล แบงกิ้ง”มาอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา  โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการ disrupt ตัวเองที่สำคัญครั้งล่าสุดของธนาคารไทย คือ วันที่ 26 มีนาคม 2561  ที่ธนาคารต่างๆ ประกาศ “ยกเลิก” ค่าธรรมเนียม (fee) หลายรายการให้กับผู้ใช้บริการ ดิจิทัล แบงกิ้ง  ที่จะกลายเป็น before and after  ของธุรกิจธนาคารหลังจากนี้

การตัดสินใจยกเลิกค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างๆ ที่ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ในครั้งนี้  มาจากการเรียนรู้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้ง มีเดีย ที่ถูกกระทบจาก perfect storm  คลื่นเทคโนโลยี ที่ถมโถมมาแล้วหลายอุตสาหกรรม

ดังนั้นการประกาศลดค่าธรรมเนียม  แม้ไม่ใช่เรื่องยากของธุรกิจและไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใดๆ  แต่เป็นเรื่องยากที่ “ใจ” ว่าจะกล้าทำในสิ่งที่ผลวิจัยต่างๆ ได้บบอกบรรทัดแรกหรือไม่ ว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด  ที่ผ่านมาเวลาอ่านผลวิจัยก็ ก็มักจะแกล้งมองไม่เห็นสิ่งนี้เสมอ

กระทั่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เมื่อมีธุรกิจหรือบริการที่มาทดแทน ช่องว่างระหว่างสิ่งที่ลูกค้าต้องการและธนาคารให้ไม่ได้ มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นความไม่พอใจและความโกรธ  ดังนั้นธนาคาร ต้อง disrupt  ตัวเอง เพื่อลดช่องว่าง ก่อนที่จะสายเกินไป

การตัดสินใจยกเลิกค่าฟี ของธนาคาร ยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แต่ถ้าไม่ตัดสินใจก็พังแน่นอน  เพราะเราเห็นว่าอีกเส้นทางเป็นทางตัน และทางที่เลือกมาก็ยังไม่รู้ว่าถูกหรือไม่  แต่ได้รับผลตอบรับเชิงบวกจากลูกค้า

ปรับตัวสู่แพลตฟอร์ม “โมบาย แบงกิ้ง”

วันนี้ลูกค้าในระบบดิจิทัล แบงกิ้ง มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  และยังต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ในอนาคต ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว

กระแสการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจธนาคาร ทำให้บุคลากรพร้อมปรับตัว เพราะหากไม่ปรับวันนี้ ก็จะถูกกลืนหายไปในมหาสมุทร จากการท้าโถมของโลกเทคโนโลยี

ที่ผ่านมาการทำธุรกิจต่างๆ จะคิดถึงกำไรขององค์กรเป็นลำดับแรก โดยไม่ได้มองความต้องการของลูกค้า  ขณะที่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น JOOX ที่เป็น  มิวสิค พอร์ทัล  เริ่มต้นจากโจทย์แรก คือ ต้องการให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการปีแรก  10 ล้านคน  โดยไม่ต้องมีกำไร  ดังนั้น JOOX จึงเปิดให้ฟังฟรี หลังจากแพลตฟอร์มมีขนาดใหญ่ จึงมามองเรื่องการหารายได้

วันนี้ธนาคารต้องปรับตัวเป็น “แพลตฟอร์ม เซอร์วิส” ดึงคนไทยเข้ามาใช้บริการ  เพราะแพลตฟอร์มหลักๆ ที่คนไทยใช้อยู่ปัจจุบัน ล้วนเป็นของต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น  ซื้อของผ่าน  ลาซาด้า  ฟังเพลงผ่านโซเชียล มีเดีย แพลตฟอร์มต่างประเทศ

“แพลตฟอร์มใหญ่ที่คนไทยเป็นเจ้าของได้วันนี้ คือ โมบาย แบงกิ้ง  เพราะรัฐคุ้มครองธนาคารอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะอีกนานหรือไม่  ดังนั้นธนาคาร มีเวลาปรับตัวอีกไม่นาน  การปรับตัวต่างๆ ในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสำเร็จหรือไม่  เพียงแต่เป็นการเริ่มทดลองไปเรื่อยๆ และรอดูผลอีกครั้ง”

กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนท์ LINE ประเทศไทย
กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนท์ LINE ประเทศไทย

อินเทอร์เน็ต disrupt สื่อสิ่งพิมพ์    

การขยายตัวของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิด “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ใหม่ ๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในยุคนี้

กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์  ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนท์ LINE ประเทศไทย ให้มุมมองในยุค Media disruption เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา  หลังจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยแตะ 10-20 ล้านคน ในปี 2005-2007  เป็นช่วงที่ กูเกิล เสิร์ช เริ่มเติบโต  แต่สิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นชัดเจน คือ พอร์ทัล เว็บไซต์  pantip sanook kapook ที่มีการเติบโตสูงในช่วง 10 ปีก่อน

ขณะที่ฝั่งสื่อสิ่งพิมพ์  ปี 2003 เริ่มเห็นสัญญาณโฆษณาสิ่งพิมพ์เริ่มทรงตัว  มองว่าเป็น disruption ของสื่อสิ่งพิมพ์  เพราะสื่ออินเทอร์เน็ตทำให้สามารถนำเสนอข่าวผ่านช่องทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เข้าถึงคอนเทนท์ของสิ่งพิมพ์อีกช่องทาง

จากนั้นคลื่น disrupt ครั้งที่ 2 เกิดขึ้น เมื่อแพ็คเกจอินเทอร์เน็ต มีราคาถูก จำนวนผู้ใช้เพิ่มแตะระดับ 30-40 ล้านคน  เฟซบุ๊ก และ ไลน์ เข้ามาในประเทศไทย  หลายคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรก ไม่เคยรู้ว่ากูเกิล หรือ เว็บไซต์ คืออะไร  เพราะคนเข้าใช้ว่า อินเทอร์เน็ต คือ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ  เพราะเป็นประสบการณ์ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกของคนกลุ่มนี้

สื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ได้แข่งขันกับเว็บไซต์  แต่แข่งขันกับ UGC  (User generated content)   โดยคู่แข่งในยุคแรก มีไม่ถึง 50  ราย จากนั้นขยับขึ้นมาเป็นหลัก 100 ราย  ปัจจุบันเป็นหลัก “ล้านราย”  เพราะทุกคนสามารถโพสต์ และไลฟ์ ได้ตลอดเวลา  โดยใช้แพลตฟอร์ม โซเชียล มีเดีย เผยแพร่คอนเทนท์ของตัวเอง

กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนท์ LINE ประเทศไทย
กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนท์ LINE ประเทศไทย

ไลน์ จับมือ“พาร์ทเนอร์”คอนเทนท์สื่อ        

ปัจจัยสำคัญที่สื่อสิ่งพิมพ์ ถดถอย เพราะแข่งกับ UGC หลักล้าน ที่นำเสนอคอนเทนท์หลากหลายและดึงเวลาไปจากทุกสื่อ  เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะเสพคอนเทนท์ของใครก็ได้ ที่อยู่ในความสนใจ  ถือเป็น disruption ที่เกิดขึ้นใหญ่ที่สุดในกลุ่มสิ่งพิมพ์ วันนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค

“ไลน์” ได้สร้าง Line Today มาปีกว่า เป็นเซอร์วิสที่ทำหน้าที่ “กระจายข่าวคุณภาพ”ให้คน 32 ล้านคนที่อ่านไลน์ทูเดย์ต่อเดือน   จึงเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรคอนเทนท์ข่าว ที่จะนำข่าวคุณภาพเผยแพร่ให้ผู้ใช้ 32 ล้านคน

การทำงานของไลน์ ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับ “พาร์ทเนอร์” ตลอดเวลา  เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพราะไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด    โดย ไลน์ จะทำหน้าที่ กระจายคอนเทนท์ เพราะมี reach ถึงผู้ใช้ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคมีความสนใจแตกต่างกัน  ดังนั้น ข่าวเดียวกัน ไม่ได้สร้างความสนใจให้กับทุกคน สิ่งที่ไลน์ ทำต่อ คือ การ personalization  นำเสนอข่าวตามความสนใจแต่ละคน โดยมีระบบคัดกรอกข่าวที่มีคุณภาพ  ทำให้ผู้ลงโฆษณาเชื่อมั่นได้ว่าทุกข่าวที่นำเสนอเป็นข้อมูลจริง และถือเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรสื่อ ในกลุ่มต่างๆ

เว็บไซต์ The Bangkok Insight จัดเสวนา “จุดเปลี่ยนสื่อไทย : The Digital Media Transformation”
เว็บไซต์ The Bangkok Insight จัดเสวนา “จุดเปลี่ยนสื่อไทย : The Digital Media Transformation”

Avatar photo