Business

ตลาดรถจักรยานยนต์ วูบหนักสุดในรอบ 19 ปี ลดลง 21-24%

รถจักรยานยนต์ เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤติไวรัสโควิด-19 จากการที่ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ

รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีผู้ซื้อหลักเป็นประชากรในกลุ่มฐานราก ทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดประเทศ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน และการส่งออกที่ต้องหดตัวลงหลังทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ยอดรถจักรยานยนต์ 01

ขณะที่เกษตรกรซึ่งเป็นอีกกลุ่มผู้ซื้อหลักนอกจากจะจำหน่ายสินค้าได้ลดลง จากภาวะปัจจุบันนี้แล้ว ยังอาจต้องเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยซึ่งกระทบต่อกำลังซื้ออย่างไม่อาจเลี่ยงได้

ทิศทางดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเลขยอดขายรถรถจักรยานยนต์โดยรวมในประเทศปี 2563 ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 1.3 ล้านคัน ถึง 1.35 ล้านคัน สู่จุดต่ำสุดในรอบ 19 ปีของตลาดซื้อขายรถจักรยานยนต์ในประเทศ ด้วยอัตราการหดตัวลงที่สูงถึงกว่า 21-24%

ทั้งนี้ คาดว่า รถจักรยานยนต์ ทั่วไปประเภทต่ำกว่า 125 ซีซี จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยคาดว่า ยอดขายน่าจะลดลงเหลือ 9.66 แสนคัน ถึง 1.003 ล้านคัน หดตัวลงกว่า 25-28% จากปีก่อน จากการที่กลุ่มผู้ซื้อหลักที่เป็นกลุ่มฐานรากมีกำลังซื้อที่ลดลง ขณะที่สถาบันการเงินเองก็มีแนวโน้มเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากกว่าปกติด้วย

ขณะที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาด 125 ถึง 250 ซีซี คาดว่ามียอดขาย 2.66 – 2.77 แสนคัน ลดลง 10-13%จากปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีรายได้สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้พบว่ารุ่นรถจักรยานยนต์ที่หดตัวจะเป็นกลุ่มสัญชาติญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มจักรยานยนต์สายคลาสสิค เช่น สกู๊ตเตอร์ เป็นต้น แม้มีระดับราคาที่สูงกว่าแต่ยังมีโอกาสขายได้ดี แสดงให้เห็นว่าในกลุ่มผู้ซื้อที่ยังคงมีกำลังทรัพย์ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังพบว่ารถจักรยานยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 250 ซีซี ขึ้นไปจนถึงบิ๊กไบค์ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบบ้างจากการล็อกดาวน์ธุรกิจต่างๆ ทำให้การซื้อขายดำเนินไปไม่สะดวกนัก แต่ในช่วงที่เหลือก็ยังเป็นกลุ่มที่พอขายได้ดีกว่ากลุ่มอื่น โดยคาดว่าตลาดจะทรงตัวหรือลดลงไม่เกิน 2%  เทียบจากปีก่อน คิดเป็นยอดขายประมาณ 68,000 ถึง 70,000 คัน

ยอดรถจักรยานยนต์หลังโควิด 01

การหดตัวลงน้อยกว่าตลาดกลุ่มอื่น เนื่องจากมีค่ายรถจักรยานยนต์เข้ามาลงทุนประกอบในประเทศหลายรุ่น ทำให้ราคาขายลดต่ำลงไปพอสมควร ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อเองอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย รวมถึงมีเครดิตดีสามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านได้ง่าย และบางส่วนอาจมีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไปขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนตัวแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ดี แม้ในปีนี้ค่ายรถจักรยานยนต์และดีลเลอร์อาจต้องเผชิญวิกฤติยอดขายตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทว่าการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ช่วงนี้โดยพุ่งเป้าไปที่การจำหน่ายรถจักรยานยนต์หรือทำโปรโมชั่นผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการจัดแผนการให้สินเชื่อรูปแบบใหม่ๆที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถผ่อนจ่ายได้ง่ายขึ้น โดยการลดจำนวนเงินผ่อน แต่ไปเพิ่มความถี่ของงวดชำระแทน อาจช่วยเพิ่มยอดคำสั่งซื้อรถจักรยานยนต์รุ่นเครื่องยนต์ต่ำกว่า 150 ซีซี ขึ้นได้

ขณะของแถมที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นสิ่งช่วยดึงดูดใจผู้ซื้อในกลุ่มเครื่องยนต์สูงกว่า 250 ซีซี เมื่อการรวมกลุ่มลูกค้าทำกิจกรรมต่างๆที่เคยได้รับการตอบรับที่ดีอาจไม่ดึงดูดใจดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นการประคองตลาดให้ผ่านวิกฤติในปีนี้ไปก่อนที่จะฟื้นตัวดีขึ้นอีกครั้งในปีหน้า

สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อ เป็นประเด็นหลักที่ส่งผลต่อยอดขายรถจักรยานยนต์ ที่ประมาณการณ์ว่าจะมียอดขายรวมอยู่ที่ 1.75 ล้านคัน หดตัว 2% จากปี 2561

Avatar photo