Politics

ว่างงานพุ่ง! ผลสำรวจชี้เดือนเดียวคนกรุงตกงานเฉียด 10%

ว่างงานพุ่ง! “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดผลสำรวจระบุเดือนพ.ค. คนกรุงว่างงาน 9.6% หลังโควิด – มาตรการล็อกดาวน์กระทบหนัก ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ

ว่างงาน : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พฤษภาคม 2563 พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

อัตราการ ว่างงาน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 9.6% โดยส่วนใหญ่ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทั้งนี้ อัตราการว่างงานน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดช่วงไตรมาส 2 และปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังภายใต้สมมติฐานที่ว่า ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำของไวรัส COVID-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 2

ว่างงาน

ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของเงินออมและการสร้างรายได้หลายช่องทางมากขึ้น หลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยแบ่งครัวเรือนไทยเป็น 3 กลุ่ม ตามการใช้สิทธิ์เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ดังนี้

1. กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” พบว่า หลังมาตรการสิ้นสุดลง ครัวเรือนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 35.5% พยายามหางานรับจ้างชั่วคราวแบบเดิมทำไปก่อน

2. กลุ่มแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และใช้สิทธิ์เงินชดเชยจากประกันสังคมกรณี COVID-19 พบว่า หลังสิ้นสุดการได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 47.4% เลือกที่จะกระจายความเสี่ยงทางด้านรายได้ผ่านการมีอาชีพเสริม

3. กลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ “เราไม่ทิ้งกัน” และไม่ได้ใช้สิทธิ์เงินชดเชยกรณี COVID-19 จากประกันสังคม แรงงานกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญของวินัยทางการเงินของตนเองมากขึ้น โดย 43.8% ของแรงงานกลุ่มนี้เริ่มเก็บออมมากขึ้นและระมัดระวังการใช้จ่ายในปัจจุบัน และอีก 28.4% มองหาอาชีพเสริมเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้หลายช่องทาง

โดยสรุปแล้ว ผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า โดยวิถีปกติใหม่ (New normal) ที่สะท้อนจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในการดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเข้ามาแทนที่ภาคเกษตรกรรม ในขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ระมัดระวัง และเร่งสร้างวินัยทางการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์เร่งด่วนสำหรับภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงานและรองรับจำนวนผู้ว่างงานใหม่หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง และการออกมาตรการส่งเสริมการออมที่เอื้อต่อแรงงานหลายกลุ่ม

ว่างงาน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รายงานสรุปของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 การยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มียอดยื่นขอใช้สิทธิ์สะสม 1,464,013 ราย โดยเป็นผู้ยื่นขอสิทธิ์รายใหม่ (ณ วันที่ 3 มิ.ย. 63) จำนวน 22,100 ราย วินิฉัยสั่งจ่ายสะสมแล้ว 1,418,048 ราย คิดเป็นเงิน 9,323.840 ล้านบาท โดยยืนยันว่า ผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินทุกราย

ด้านนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยให้นายจ้าง รีบดำเนินการยื่นหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้แก่ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยรับเงินว่างงานฯ ต่อสำนักงานประกันสังคมนั้น

เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรควิด-19 ในประเทศไทยได้คลี่คลายลง รัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่าง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกของประชาชน และขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่าง ทำให้สถานประกอบการบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้ จากผลสืบเนื่องดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมขอความร่วมมือนายจ้างแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ในเรื่องการหยุดงานของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ในกรณีว่างงานเนื่องจาก มีเหตุสุดวิสัยต่อสำนักงานประกันสังคม ในกรณีดังนี้

  • กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานก่อนวันที่รับรองไว้แล้ว ให้ยื่นหนังสือรับรองแจ้งวัน กลับเข้าทำงานของลูกจ้าง
  • กรณียังไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานได้ และต้องให้ลูกจ้างหยุดงานต่อหลังจากคำสั่งรัฐ สั่งเปิดแล้ว ให้ยื่นหนังสือรับรองแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงตามที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานจนถึงวันที่สิ้นสุดการหยุดงาน
  • กรณีเปลี่ยนแปลงสาเหตุการหยุดงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยของลูกจ้างให้ยื่นหนังสือรับรองใหม่ โดยระบุสาเหตุการหยุดงาน วันที่เริ่มต้น และวันที่สิ้นสุด

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้นายจ้างรีบดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ในระบบ e-service บนเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th สำหรับนายจ้างที่ไม่ได้ยื่นผ่านระบบ e-service สามารถดาวโหลดแบบฟอร์มในแบบแจ้งการกลับเข้าทำงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th เมนู ดาวน์โหลด เลือกแบบฟอร์มที่ต้องใช้กรณีว่างงาน

โดยสามารถยื่นแบบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา อย่างไรก็ตามขอให้นายจ้างเห็นความสำคัญ หากไม่ดำเนินการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงอาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในกรณีอื่นๆ ได้

Avatar photo