COVID-19

สธ. ยัน ‘เงินกู้’ 4.5 หมื่นล. กระจายทั่วถึงระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ

เงินกู้ 4.5 หมื่นล้าน สธ. เผย 5 แนวทางใช้เงิน วางนโยบายกระจายสู่ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ พร้อมมีคณะกรรมการติดตามเพื่อความโปร่งใส

นพ. สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับจัดสรรงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (1 ล้านล้านบาท) จากรัฐบาลจำนวน 45,000 ล้านบาท

วาง 5 แนวทาง ใช้ เงินกู้ กระจายทั่วถึง

ทั้งนี้ การใช้งบก้อนดังกล่าว จะเป็นการใช้สำหรับภาพรวมระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว โดยจะเน้นการกระจายไปกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลทุกระดับ สปสช. และหน่วยงานภายนอก เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดอื่น ๆ

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายว่าการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า กระจายทุกภาคส่วน มีความโปร่งใส มีส่วนร่วม และคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก มีเป้าหมายเพื่อลดการติดเชื้อของประชากรในประเทศให้อยู่ระดับที่ควบคุมได้

นอกจากนี้ ยังเน้นป้องกันความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคระลอกใหม่ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสามารถดำเนินการได้ ภายใต้บริบทความไม่แน่นอนจากโรคอุบัติใหม่ และประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ทันสมัย มีศักยภาพ

นพ. สุขุม กาญจนพิมาย
นพ. สุขุม กาญจนพิมาย

ทั้งนี้ ได้กำหนดการใช้งบประมาณดังกล่าวใน 5 แผนงาน ประกอบด้วย

1. แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2. แผนงานหรือโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

3. แผนงานหรือโครงการเพื่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกันควบคุมโรค การวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการฟื้นฟูด้านสาธารณสุข

4. แผนงานหรือโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

5. แผนงานหรือโครงการเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว จะมีคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ เน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากไม่เพียงพอจะนำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประสานของบเพิ่มเติม เน้นนโยบายเร่งด่วน เช่น ค่าใช้จ่ายการกักตัวในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) การวิจัยพัฒนา และจัดซื้อจัดหาวัคซีนในอนาคต เป็นต้น

Avatar photo