Economics

‘แบงก์ชาติ’ ยันเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ติดลบต่ำสุดกว่า 10 ปียังไม่เข้าข่ายเงินฝืด!

“แบงก์ชาติ” ยืนยันเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ติดลบต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน

แบงก์ชาติ : นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อิงนิยามภาวะเงินฝืด ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้

แบงก์ชาติ

1. อัตราเงินเฟ้อติดลบ เป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period)
2. อัตราเงินเฟ้อติดลบ กระจายในหลายๆหมวดสินค้า และบริการ
3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปรกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย
4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และ อัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว พบว่า อัตราเงินเฟ้อไทย ติดลบมาเพียงสามเดือน แม้ประมาณการล่าสุด ของ ธปท. จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ยังมองว่า ปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้ อีกทั้งเป็นการติดลบ จากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่ 1.8% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อ ของ ธปท. ที่ 1-3% ต่อปี จึงยังไม่เข้าข่ายเงินฝืด ตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทย หดตัวลึก หรือ ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ อย่างใกล้ชิด

แบงก์ชาติ

ด้านนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2563 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือ เงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 3.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และ เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.01% นับเป็นการติดลบ มากสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นับจากเดือนสิงหาคม 2552 จากที่เคยติดลบมากสุด ในเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ลดลงถึง 4.4% หลังวิกฤติซับไพรม์

“ในทางเทคนิค เข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้วในขณะนี้ ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.63) เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ติดลบ 1.04% และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.40% อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อ ทั้งปีติดลบแน่นอน และทางสำนักงานฯ ยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปี 2563 ที่จะติดลบ 0.2% ถึงติดลบ 1.0%” ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าว

ทั้งนี้ ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (ตามความหมายแคบ) ยังคงมีสินค้ามีราคาสูงขึ้นมากกว่า ราคาลดลง จึงไม่สอดคล้องหลักวิชาการที่ราคาสินค้าต้องลดลง โดยสินค้าที่ลดลงมาเป็น น้ำมัน ไฟฟ้า และประปา เป็นปัจจัยเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม ลดลง และผักสด ลดลงปีที่แล้วฐานสูง สาเหตุสำคัญ จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็น ต่อการครองชีพบางรายการ

นอกจากนี้ ฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสด ปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลง ต่ำสุดในรอบ 3 ปี สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ยังคงเคลื่อนไหว ในทิศทางที่สอดคล้องกับ สถานการณ์ และ พฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสด และพลังงานออกแล้ว

Avatar photo