Economics

อึ้ง!! บริษัทไทยเกือบครึ่งตกเป็นเหยื่อทุจริต

vp

นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensic services บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริต Shining a light on fraud: Economic Crime Survey in Thailand ประจำปี 2561 ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวขึ้นทุกๆ 2 ปีว่า เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 48% ของบริษัทในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สูงกว่าผลการสำรวจเมื่อปี 2559 ที่มีเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของบริษัทในประเทศไทยเท่านั้นที่ยอมรับว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งแม้จะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ถือว่า เป็นสัญญาณบวกของประเทศมากกว่าที่จะมองว่าเป็นสัญญาณเตือนภัย

“ตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ แม้ว่าจะน่าวิตก แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ประกอบกับประสบการณ์ทำงานของ PwC แล้ว สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการทุจริต และสามารถตรวจพบเหตุทุจริตได้เพิ่มขึ้น มากกว่าที่จะสื่อว่า จำนวนของเหตุทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมีสูงขึ้น ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี” นายวรพงษ์กล่าว

นายวรพงษ์ กล่าวอีกว่า การทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ด้วยวิธีการที่ซับซ้อน จึงทำให้ตรวจจับได้ยาก

econcrime reported rate

ทั้งนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) ยังคงเป็นประเภทของการทุจริตที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็น 62% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 45% เช่นเดียวกับตัวเลขการประพฤติผิดทางธุรกิจของไทย (Business misconduct) คิดเป็น 40% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 28% สะท้อนให้เห็นว่านโยบายป้องกันการทุจริตในองค์กรยังมีช่องโหว่ ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่สีเทา หรือความไม่ชัดเจนของนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) จะเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล แต่มีเพียง 1 ใน 5 หรือ 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ทราบว่าบริษัทของตนตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดย 11% จัดให้ภัยไซเบอร์เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบร้ายแรงที่สุดต่อองค์กรในเวลานี้ และเกือบ 1 ใน 3 หรือ 32% คาดว่า ในอีกสองปีข้างหน้า อาชญากรรมทางไซเบอร์จะกลายเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุด

ทั้งนี้ 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า บริษัทของพวกเขามีความพยายามในระดับปานกลางถึงระดับมาก ในการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจเพื่อป้องกันการทุจริต หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคนภายในองค์กร ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 83% อย่างไรก็ตาม มีเพียง 23% เท่านั้นที่บอกว่า บริษัทให้ความสำคัญมากในการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมของพนักงาน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเช่นกันที่ 34% และแม้ว่า 70% ของการทุจริตร้ายแรงที่สร้างความเสียหายทางการเงินให้กับองค์กรจะมีสาเหตุมาจากพนักงานก็ตาม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK