Business

ตอบชัด!! ที่ดินทำเลทอง ปลูกสินค้าเกษตร หลบภาษีไม่รอด

สศค. ตอบข้อสงสัย หลังมีคนรวยหัวใส ปลูกกล้วย มะนาว บน ที่ดินทำเลทอง ใจกลางเมือง หลบภาษีไม่รอด ต้องเสียเพิ่ม 20 เท่าจากอัตราเดิม 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีผู้นำที่ดินทำเลทอง ใจกลางเมืองไปปลูกสินค้าเกษตร เช่น สวนกล้วยย่านเอกมัย สวนมะนาวย่านรัชดาภิเษก เพื่อให้การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ฯ ลดลงเนื่องจากเข้าข่ายพื้นที่เกษตรกรรมนั้น ยืนยันว่า ไม่สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้ เนื่องจากการคิดภาษี จะคิดทั้งจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวมกัน

ที่ดินทำเลทอง ถูกนำมาปลูกสินค้าเกษตร

ทั้งนี้เนื่องจาก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ได้ปิดจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของภาษีเดิม คือภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน ดังนั้น แม้สิ่งปลูกสร้างจะเป็นเกษตรกรรมซึ่งมีราคาไม่สูง แต่เจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากมูลค่าที่ดินที่มีราคาสูง เช่น จากภาษีเดิมเคยเสียปีละ 1 แสนบาท เมื่อคิดตามเกณฑ์ภาษีใหม่ การที่มีที่ดินทำเลทอง จะเสียภาษีเพิ่มเป็น 2 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 20 เท่า ตามมูลค่าที่ดิน

“ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน แม้ว่าจะทำเกษตรก็จะเสียภาษีแพงกว่าเดิม 20 เท่า เป็นต้นทุนของผู้สะสมความมั่งคั่งด้วยการถือครองที่ดิน ฉะนั้นจะต้องคำนึงแล้วว่าเสียภาษีปีละ 2 ล้านคงไม่สนุก ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบภาษี จากเดิมที่จัดเก็บไม่ได้ มาจัดเก็บได้และจัดเก็บได้มากกว่าเดิม 20 เท่า”นายลวรณ กล่าว

แจกเงิน
ลวรณ แสงสนิท

สำหรับกรณีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ในกฎหมายลูกระบุว่า ไม่ว่าจะมีบ้านกี่หลังก็ตาม จะอยู่เอง หรือให้เช่า จะเสียภาษีในอัตราที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยทั้งหมด และจะได้รับการยกเว้นหากมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นบ้านที่ไม่ได้อยู่อาศัย แต่เก็บไว้เป็นบ้านพักผ่อนต่างจังหวัด หรือปล่อยให้เช่าจะเสียภาษีในอัตราล้านละ 200 บาท ไม่ใช่ล้านละ 3,000 บาท อย่างเดิม

ส่วนสำหรับกรณีที่ไม่เก็บภาษีบ้านหลังที่ 2 เพื่อให้เช่า แพงกว่าบ้านที่ 2 เพื่ออยู่อาศัยนั้น เป็นไปตามหลักการของภาษี ซึ่งจะดูการใช้ประโยชน์ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ใช้ประโยชน์เพื่อการใด หากใช้เป็นที่อยู่อาศัยก็ถือว่าเป็นที่อยู่อาศัย แต่หากให้เช่า ก็จะต้องเสียภาษี 2 ประเภท คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราที่อยู่อาศัย ขณะที่รายได้จากค่าเช่าจะเสียภาษีเงินได้

2 บ้านดีเจต้นหอม 6

“เปรียบเทียบกรณีคนรวยมีบ้านหลังเดียวราคา 4.8 ล้านบาท ไม่เกิน 5 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี กับคนไม่รวยมีบ้าน 2 หลัง หลังนึงอยู่เองอีกหลังให้พ่อแม่อยู่ แต่ราคารวมกัน 4.8 ล้านบาท หลังแรกไม่เสียภาษี แต่หลังที่ 2 ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นไปตามหลักการภาษีที่ต้องมีความเท่าเทียมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปิดช่องโหว่ของภาษี เดิมคือ ภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนนั้น เนื่องจากภาษีบำรุงท้องที่เดิม เป็นการจัดเก็บตามราคาประเมินที่ดินสิ่งปลูกสร้างเมื่อปี 2521-2524 เป็นฐาน ซึ่งไม่ได้ปรับมา 40 ปีแล้ว ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ จึงเป็นการอุดช่องโหว่ด้วยการคิดฐานภาษีจากมูลค่าที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติเห็นชอบออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลด 90% (พ.ร.ฏ.ลดภาษีที่ดินฯ) โดยจะใช้เฉพาะปี 2563 ก่อน เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า หากจัดเก็บเต็มอัตราตาม พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 อาจกระทบกับทำให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนในช่วงนี้

พร้อมกันนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาษีรายได้ภาษีต่อไปในอนาคต รวมทั้งเห็นชอบการขยายเวลาชำระภาษีภายในเดือนเมษายน 2563 ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 ส่วนท้องที่และท้องถิ่น ที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของงบประมาณที่จะต้องเก็บภาษีมาใช้จ่าย จะมีการหารือมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป

การเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ในอัตราร้อยละ 90 ปีภาษี 2563 ที่ให้ใช้เฉพาะปี 2563 นั้น เนื่องจาก พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ มีการคิดภาษีเป็นขั้นบันได และจัดเก็บตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปตามการใช้ประโยชน์ เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาจัดสรร หรือขาย จะได้ลดภาษี 90% ไม่เกิน 3 ปี เป็นต้น

ดังนั้น หากประกาศใช้ตามเงื่อนเวลาที่วางไว้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไปได้

Avatar photo