World News

โรคอีโบล่า ระบาดรอบใหม่ในคองโก ดับแล้ว 4 ราย หวั่นลามถึงเมืองหลวง

โรคอีโบล่า กำลังระบาดรอบ 2 ในเมืองเอ็นบันดากา ทางตะวันตกของคองโก เจอผู้ป่วยแล้ว 6 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 4 ราย หวั่นระบาดแรง ลามถึงเมืองหลวง

โรคอีโบล่า

เจ้าหน้าที่คองโก เปิดเผยว่า การระบาดของ โรคอีโบล่า ครั้งนี้ ถือเป็นการระบาดครั้งที่ 11 แล้ว นับตั้งแต่ที่มีการพบเชื้อไวรัสนี้เป็นครั้งแรก ใกล้กับแม่น้ำอีโบลา เมื่อปี 2519

“เราเจอการระบาดของอีโบล่ารอบใหม่ ในเอ็มบันดากา เรากำลังจัดส่งวัคซีน และยาไปให้อย่างรวดเร็ว” เอเตนิ ลอนกอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคองโก กล่าว

เมืองเอ็มบันดากา ถือเป็นศูนย์กลางการค้าของคองโก มีประชากรอยู่ราว 1.5 ล้านคน และมีการขนส่งเชื่อมต่อกับกรุงคินชาซา โดยเมืองนี้อยู่ห่างจากจังหวัดคิวูเหนือ ที่กำลังเกิดการระบาดของโรคอีโบล่าอยู่ราว 1,000 กิโลเมตร ซึ่งการระบาดในจังหวัดนี้ ที่อยู่ติดกับชายแดนยูกันดา ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 2,200 คน ทั้งความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาด ยังทำได้ยาก จากเหตุการปะทะกัน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่าจะมีไข้สูงทันทีทันใด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และเจ็บคอ ตามด้วยอาการ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ในรายที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จะพบมีเลือดออกง่าย โดยเกิดทั้งเลือดออกภายในและภายนอกร่างกาย มักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย หรือก่อให้เกิดอาการของระบบประสาทส่วนกลาง ช็อก และเสียชีวิตได้

การพบอีโบล่าระบาดรอบใหม่นี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสำหรับคองโก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคอีโบล่ามา 3 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ทั้งยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คองโก กลังรับมือกับการระบาดของโรคหัด ซึ่งคร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 6,000 ราย และไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 3,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 71 คน

ทางด้านนายทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทวีตข้อความว่า การระบาดของโรคอีโบล่าในคองโก เป็นการเตือนว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่

การระบาดครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทางการคองโกกำลังจะประกาศในอีก 2 วันข้างหน้าว่า การระบาดของไวรัสอีโบล่าในจังหวัดคิวูเหนือ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน และยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ใหม่ ยุติลงแล้ว หลังไม่เจอผู้ติดเชื้อรายใหม่ตลอดช่วง 30 วันที่ผ่านมา

เมื่อปี 2561 เมืองเอ็มบันดากา เคยพบการระบาดของไวรัสอีโบล่ามาแล้ว ทำให้เกิดความวิตกว่า การระบาดรอบใหม่นี้จะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หรือแพร่ไปถึงกรุงคินชาซา ที่มีประชากรมากถึง 10 ล้านคน

โรคอีโบล่า คืออะไร

ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่า เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบล่า ซึ่งอยู่ในตระกูล Filoviridae family ประกอบด้วย 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ สายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี สายพันธุ์เรสตัน และสายพันธุ์ Bundibugyo โดยสายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี และสายพันธุ์ Bundibugyo ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาและทำให้มีอัตราป่วยตายประมาณ 25-90%

ในขณะที่ สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ และสายพันธุ์เรสตัน  มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากสายพันธุ์เรสตัน โดยการติดเชื้อไวรัสนี้ ไม่มีการรักษาจําเพาะ ในรายที่มีอาการรุนแรงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และให้สารนํ้าอย่างเพียงพอ

แม้จะมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงแหล่งที่มาของเชื้อโรค โดยจากหลักฐานที่เพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นถึงบทบาทของลิง (ซึ่งมีโรคที่คล้ายคลึงกับคน) และ/หรือ ค้างคาวในห่วงโซ่การถ่ายทอดเชื้อสู่คน ในทวีปแอฟริกา พบว่าการติดเชื้อไวรัสอีโบลาในผู้ป่วยรายแรกที่พบ (human index case) มีความเกี่ยวข้องกับการสัมผัสลิงกอริลลา ลิงซิมแปนซี ลิงอื่นๆ สัตว์จำพวกเลียงผา กวางผา และเม่นที่ตายหรือถูกฆ่าในป่าทึบ

การติดต่อสู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด หรือเครื่องในของลิงที่ติดเชื้อ หรือเกิดขณะจัดการ หรือชําแหละสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตาย โดยยังไม่พบรายงานจากการติดเชื้อผ่านทางละอองฝอย ที่ลอยในอากาศ สำหรับการติดต่อจากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือดที่ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือนํ้าอสุจิ

นอกจากนี้ การติดเชื้อในโรงพยาบาลก็พบได้บ่อย ผ่านทางเข็ม และหลอดฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ และยังพบการแพร่กระจายเชื้ออีโบลาในพิธีศพได้บ่อย เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตอาจมีการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ การติดเชื้อในโรงพยาบาลก็พบได้บ่อย ผ่านทางเข็ม และหลอดฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ ทั้งยังพบการแพร่กระจายเชื้ออีโบลาในพิธีศพได้บ่อย เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิต อาจมีการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต

Avatar photo