World News

‘จอร์จ ฟลอยด์’ เสียชีวิตจากการ ‘ฆาตกรรม’ ผลชันสูตร 2 ฉบับชี้ตรงกัน

ผลชันสูตร 2 ฉบับชี้ตรงกัน “จอร์จ ฟลอยด์” เสียชีวิตจากการฆาตกรรม แพทย์เผยตำรวจเข้าใจผิดว่า ถ้าพูดได้แปลว่าหายใจได้ “ซึ่งมันไม่จริง”

จอร์จ ฟลอยด์

จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำจากเมืองมินนิแอโพลิส ที่เสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ถูกชันสูตรพลิกศพ โดยเมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) มีการเปิดเผยผลการชันสูตรพลิกศพ 2 ฉบับซึ่งที่ดำเนินการแยกกัน แต่ผลชันสูตรระบุตรงกันว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเขาคือ การฆาตกรรม แม้จะมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่ตรงกัน

รายงานหลังมรณกรรมฉบับหนึ่งจาก 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งออกโดยสำนักงานชันสูตรศพเทศมณฑลเฮนเนพิน (Hennepin County Medical Examiner’s Office) ระบุว่า “การหยุดทำงานของทั้งระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ (cardiopulmonary arrest) อันข้องเกี่ยวกับการจับกุมตามการบังคับใช้กฎหมาย การหน่วงเหนี่ยว และแรงอัดบริเวณคอ” ว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของฟลอยด์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นชนวนเหตุการประท้วงในทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจ โดยมีผู้ประท้วงบางกลุ่มได้ก่อความรุนแรง

ผลลัพธ์อย่างเป็นทางการดังกล่าวถูกเปิดเผย หลังมีการเผยผลชันสูตรศพอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งครอบครัวของฟลอยด์เป็นผู้ว่าจ้างและดำเนินการแยกกัน เพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยผลชันสูตรฉบับนี้ระบุว่า “อาการขาดอากาศหายใจซึ่งเกิดจากแรงกดต่อเนื่องเป็นสาเหตุ” ของการเสียชีวิตของชายวัย 46 ปีรายนี้ ขณะที่เบนจามิน ครัมป์ (Benjamin Crump) ทนายความของครอบครัวของฟลอยด์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (1 มิ.ย.) ว่าผลการชันสูตรพบว่ามี “แรงกดบริเวณคอและหลังซึ่งส่งผลให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง”

GettyImages 1216479306

ผลการชันสูตรศพฉบับของสำนักงานฯ ระบุว่า “ไม่ปรากฏผลตรวจทางกายภาพใดที่สนับสนุนข้อวินิจฉัยภาวะการขาดอากาศหายใจจากการบาดเจ็บ (Traumatic asphyxia) หรือการรัดคอ (strangulation)” แต่ชี้ว่าภาวะสุขภาพของฟลอยด์ ซึ่งมีโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) และโรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง (Hypertensive Heart diseases) ประกอบกับการถูกหน่วงเหนี่ยวจากตำรวจ และ “สารมึนเมาใดๆ ที่อาจอยู่ในระบบร่างกายของเขา” ได้ส่งผลให้เขาเสียชีวิต

รายงานระบุว่าผลชันสูตรดังกล่าว “มิใช่ข้อตัดสินทางกฎหมายที่ระบุความผิดหรือเจตนา และไม่ควรถูกนำมาใช้แทนกระบวนการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม”

อย่างไรก็ดี ผลชันสูตรพลิกศพที่ครอบครัวของฟลอยด์ดำเนินการระบุว่า “น้ำหนักที่กดลงที่หลัง การใส่กุญแจมือ และการวางท่า ต่างเป็นปัจจัยร่วม เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ขัดขวางความสามารถในการทำงานของกะบังลมของฟลอยด์”

ไมเคิล บาเดน (Michael Baden) หนึ่งในแพทย์ผู้ชันสูตรที่ครอบครัวว่าจ้าง ระบุว่า “เราไม่พบปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เป็นไปได้ว่าเป็นสาเหตุหรือมีส่วนนำไปสู่การเสียชีวิต ตำรวจเองที่เข้าใจผิดว่า ถ้าพูดได้ ก็แปลว่าหายใจได้ ซึ่งมันไม่จริง”

ทั้งนี้ ขณะที่เดเร็ก ชอวิน (Derek Chauvin) หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้เข่ากดที่คอของฟลอยด์ไว้นานเกือบ 9 นาที ฟลอยด์ซึ่งถูกตำรวจใส่กุญแจมือและถูกกดไว้กับพื้น ได้วิงวอนขอความช่วยเหลือ พูดทั้งน้ำตาว่า เขาหายใจไม่ออก ในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นาย ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกปลดแล้ว ส่วนโชววินถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไม่เจตนา

ประท้วง จอร์จ ฟลอยด์

การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ได้สร้างความไม่พอใจและเกิดการประท้วงทั่วสหรัฐ โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐขู่ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ

“หากเมืองหรือรัฐใดไม่ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผมจะส่งทหารสหรัฐเข้าไปแก้ปัญหาให้อย่างรวดเร็ว” ทรัมป์แถลงข่าวที่โรส การ์เดน (Rose Garden) ในทำเนียบขาว ซึ่งถือเป็นการปราศรัยครั้งแรกหลังฟลอยด์เสียชีวิต

ทรัมป์ระบุว่า เขาอาจใช้อำนาจตามความในกฎหมายปราบจลาจลปี 1807 (Insurrection Act of 1807) ที่สหรัฐไม่ได้นำมาใช้บ่อยนัก โดยกฎหมายนี้มอบอำนาจให้ประธานาธิบดีสามารถส่งกำลังทหารไปปฏิบัติหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศได้ ทรัมป์ระบุว่าเขาจะส่ง “ทหารติดอาวุธครบมือ บุคลากรทางการทหาร และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหลายพันคน” ออกปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ระหว่างที่เฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือทำเนียบขาว และเกิดความวุ่นวายขึ้นที่จัตุรัสลาฟาแยตต์ (Lafayette Square) ในบริเวณใกล้เคียง ทรัมป์ประกาศว่าเขาเป็น “ประธานาธิบดีของการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยในสหรัฐ” และ “เป็นพันธมิตรของผู้ที่ประท้วงโดยสันติทุกคน” ขณะที่เขากล่าวปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายการชุมนุมบริเวณใกล้เคียงทำเนียบขาว

หลังจบการปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจลงควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่เพื่อเปิดทางให้ทรัมป์สามารถเดินข้ามถนนเอช สตรีต (H Street) ไปยังโบสถ์ เซนต์ จอห์น เอพิสโกพัล (St. John’s Episcopal Church) และร่วมถ่ายภาพกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐ

โบสถ์เซนต์ จอห์น เอพิสโกพัล อันเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้รับความเสียหายบางส่วนจากการที่ผู้ประท้วงจุดไฟในบริเวณใกล้เคียงช่วงคืนวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

ประท้วงสหรัฐ

แอนดรูว์ คัวโม (Andrew Cuomo) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กออกมาประณามคำปราศรัยของทรัมป์ โดยไม่นานหลังจากนั้นเขาเข้าร่วมงานแถลงข่าวและกล่าวว่า “เรียกทหารสหรัฐฯ ออกมาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง นั่นแหละจุดมุ่งหมายของการกระทำดังกล่าว น่าอับอายมาก น่าขายหน้าสิ้นดี”

ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 มีรายงานระบุว่าทรัมป์โต้เถียงกับผู้ว่าการรัฐทางโทรศัพท์เพื่อหารือเกี่ยวกับการจลาจลที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เขากล่าวว่าเหล่าผู้ว่าการรัฐนั้น “อ่อนแอ” และกระตุ้นให้พวกเขา “เข้าควบคุมสถานการณ์” เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

Avatar photo