Sme

‘โอคุสโน่’จากผลิตภัณฑ์ที่คนมองข้ามสู่สแน็ค‘คางกุ้ง’รายแรกของไทย

จากสิ่งที่คนมองข้าม “หัวกุ้ง” ที่ถูกทิ้งไว้บนโต๊ะอาหาร กลายเป็นจุดกำเนิดของขนมขบเคี้ยว “คางกุ้ง”  OKUSNO รายแรกของประเทศไทย ออกสู่ตลาดในเดือนมกราคม 2558

“คางกุ้ง OKUSNO” เกิดการคนรุ่นใหม่ พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์  ที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่ชื่นชอบงานด้านกราฟฟิก จึงไปฝึกงานที่ประเทศสโลวีเนีย และพบว่าไม่เหมาะกับงานด้านกราฟฟิก จึงกลับมาประเทศไทย และเห็นโอกาสจาก “คางกุ้ง” วัตถุดิบที่ถูกทิ้ง!! นำมาพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยว คางกุ้ง by โอคุสโน่  ที่มาจากภาษาสโลวีเนีย แปลว่า “อร่อย”

คางกุ้ง โอคุสโน่
พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์

พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์  เจ้าของแบรนด์คางกุ้งอบกรอบ OKUSNO บริษัท โอคุสโน่ ฟู้ด จำกัด กล่าวว่าได้เริ่มความคิดนำวัตถุดิบที่แปลกใหม่ “คางกุ้ง” ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับหัวกุ้ง ยังไม่มีใครพัฒนาเป็นสินค้ามาก่อน นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเป็นสินค้าขนมขบเคี้ยววางจำหน่ายในปี 2558  ถือเป็นเจ้าแรกและผู้คิดค้น “คางกุ้ง”

จุดเริ่มที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์คางกุ้ง มาจากข้อคิดที่ได้ยินได้ฟังมาว่า “บนท้องถนนที่เราเดินนั้น ที่จริงแล้วมีเม็ดเงินอยู่เต็มไปหมด อยู่ที่ว่าเราจะเห็นโอกาสหรือสร้างมูลค่าได้หรือไม่ การลงมือทำจะมีโอกาสสำเร็จและไม่สำเสร็จ  ถ้าไม่สำเสร็จก็ลองทำใหม่ แต่หากเราปล่อยให้โอกาสหลุดไปโดยไม่ทำอะไร จะมีคำถามว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า โอกาสแบบนี้ จะกลับมาหาเราอีกไหม”

ดังนั้น ณ วันที่มีโอกาสจึงต้องการทำให้เต็มที่  “คางกุ้ง” จึงเปรียบเป็นโอกาสที่หล่นอยู่บนท้องถนน  โดยนำวัตถุดิบที่ถูกมองช้าม มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการในประเทศไทย หรืออาจจะในโลกนำวัตถุดิบคางกุ้งมาพัฒนาเป็นสินค้ามาก่อน

สิ่งดังกล่าวมาจากความเชื่อว่า การทำสินค้าและบริการใดก็ตาม  หากแตกต่างจากตลาดเพียงแต่ 1 จุด ก็สามารถขยายจุดนี้ให้ขึ้นเป็นผู้นำได้ แต่หากผลิตสินค้าและบริการตามคนอื่น ก็จะเป็นผู้ตามเสมอ!!

การสร้างนวัตกรรมที่แตกต่าง ไม่ใช่แต่เพียงตัวสินค้า แต่รวมถึงแพ็คเกจจิ้ง ที่สร้างจุดสนใจได้เช่นกัน

เมื่อตัดสินใจพัฒนาผลิตภัณฑ์คางกุ้ง จึงเริ่มศึกษาข้อมูล พบว่าประเทศไทยส่งออกกุ้งมากที่สุด 1 ใน 5 ของเอเชีย  โดยส่งออกแต่เนื้อกุ้ง ทำให้มีเปลือกกุ้งและหัวกุ้งเหลืออยู่ในประเทศไทย พบว่ามีปริมาณกว่า 1 แสนตันต่อปี  จึงเริ่มมองหาโอกาสนำคางกุ้งมาแปรรูปเป็นสแน็ค

จากนั้นจึงเริ่มหาแหล่งวัตถุดิบใกล้กรุงเทพฯ คือ จังหวัดสมุทรสาคร และใช้เวลาเจรจานานกว่า 3-4 เดือนในการให้โรงงานแกะส่วนที่เป็นคางกุ้งส่งให้ เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้า

เมื่อได้แหล่งวัตถุดิบ ต่อมาเป็นการหาโรงงานรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) วิ่งหาอยู่หลายโรงงาน  แต่ด้วยความที่เป็นเด็กจบใหม่ อายุน้อย และเป็นสินค้าใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ จึงกลับมาปรึกษาครอบครัวและตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตเอง!!

ภาพเฟซบุีก คางกุ้ง Okusno เจ้าแรกของไทย
ภาพเฟซบุ๊ก คางกุ้ง Okusno เจ้าแรกของไทย

อีกหนึ่งความยากในการพัฒนาคางกุ้งให้เป็นสแน็ค คือต้องใช้เวลาพัฒนาวิธีการทอดคางกุ้ง เพื่อไม่ให้อมน้ำมัน และพัฒนารสชาติให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคส่วนใหญ่

จุดต่อมาเป็นการวางขยายสินค้าในห้างค้าปลีก เริ่มที่ “พารากอน” เป็นแห่งแรก  เพราะเห็นว่าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะต้องการขยายตลาดส่งออก เพื่อทำให้ทั้งซัพพลายเชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยทั้งหมดเติบโตไปพร้อมกัน

เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ การวางขายในพารากอน ต้องเริ่มจากชั้นวางขายสินค้าล่างสุด ได้พื้นที่ไม่มาก เพราะผู้บริโภคยังไม่รู้จัก จึงเริ่มสร้างการับรู้ด้วยการยืนแจกสินค้าบริเวณ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ด้านหน้าพารากอน  หลังจากนั้นพบว่าลูกค้าเริ่มตามหาสินค้าและห้างสั่งสินค้าไปวางจำหน่ายเพิ่ม

“ค้นพบว่าหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดพื้นฐานที่สำคัญ คือ การแจกสินค้าให้ผู้บริโภคได้ลองชิม”

จากนั้นจึงใช้วิธีแจกสินค้าตัวอย่างมาต่อเนื่องในพื้นที่ต่าง ๆ  หลังจากนั้นจึงได้รับความสนใจจากสื่อสัมภาษณ์และได้รับรางวัลเกี่ยวกับสินค้า

กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ผ่านมาได้ มาจากความอดทน จึงมองว่าการทำธุรกิจแต่ละอย่าต่องใช้ความอดทนสูง

พิมพ์มาดา บอกว่าเป้าหมายของ “โอคุสโน่” ต้องการทำให้คนไทยเข้าใจว่า คางกุ้ง คือ อะไร  ดังนั้นนับตั้งแต่วางตลาด คางกุ้ง โอกุสโน่ ในปี 2558 ได้มุ่งสื่อสารให้คนเข้าใจว่า “คางกุ้ง” คือ อะไร เพราะมีคนไทยอีกหลายล้านคนที่ยังไม่เข้าใจว่า คางกุ้ง คือส่วนไหนของกุ้งและมีประโยชน์อย่างไร

ภาพเฟซบุีก คางกุ้ง Okusno เจ้าแรกของไทย 2
ภาพเฟซบุ๊ก คางกุ้ง Okusno เจ้าแรกของไทย

ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจคางกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ในตลาด แต่คิดไว้แล้วว่า วันหนึ่งจะต้องมีคู่แข่ง จึงชูจุดขายการเป็น “รายแรก” ของผลิตภัณฑ์ไว้บนแพ็คเกจจิ้งคางกุ้ง  โดยออกแบบซองผลิตภัณฑ์ที่ใส่ความเป็นเจ้าของรายแรกให้เห็นเด่นชัด  เพราะในอนาคตคู่แข่งที่เข้ามาในตลาดรายใหม่ แม้จะเป็นรายใหญ่มีเงินทุนหน้า แต่สิ่งที่ไม่มีคือ การเป็น Ownership และนำเสนอ Storytelling ความเป็นรายแรก สื่อสารผ่านบรรจุภัณฑ์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ  ซึ่งเป็นจุดที่คนจดจำได้

แม้ปัจจุบันจะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถห้ามได้!! แต่หากมองในแง่ดี เมื่อมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ก็อาจช่วยกันขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น มีผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์คางกุ้งมากขึ้น  สินค้ามีพื้นที่วางในห้างค้าปลีกเพิ่มขึ้นและเชื่อว่าตลาดส่งออกยังเติบโตได้อีกมาก  แต่ต้องเริ่มจากการทำแบรนดิ้งในประเทศก่อน

เป็นที่ทราบกันว่าปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรายใหญ่ของประเทศ ได้เปิดตัวขนมขบเคี้ยวที่แปรรูปจากวัตถุดิบอาหารทะเล (ซี สแน็ค) ภายใต้แบรนด์ “โมโนริ” แก้มกุ้ง  แม้จะใช้ชื่อว่าแก้มกุ้ง แต่ก็คือส่วนที่เป็น คางกุ้ง นั่นเอง

พิมพ์มาดา มองว่านับตั้งแต่เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์จากคางกุ้ง เดิมมักกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คือการที่มีคู่แข่งมากขึ้น สุดท้ายจึงตัดสินใจไม่สนใจคู่แข่ง โดยวางจุดยืนและเป้าหมายของตัวเอง จากนั้นเดินหน้าต่อไปตามแผนที่วางไว้  ใช้จุดยืนว่าเป็นคางกุ้งรายแรกในประเทศไทย  โดยสื่อสารผ่านแบรนด์และบรรจุภัณฑ์  เล่าเรื่องผ่านโซเชียล มีเดีย

พบว่าการเข้ามาของคู่แข่งที่มีการโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์คางกุ้ง ทำให้ผู้บริโภครู้จักสินค้ามากขึ้น และทำให้สินค้าคางกุ้ง โอคุสโน่ ขายได้มากขึ้น เพราะใช้ชื่อแบรนด์ คางกุ้ง by โอคุสโน่  บนบรรจุภัณฑ์ชัดเจน

ภาพเฟซบุีก คางกุ้ง Okusno เจ้าแรกของไทย 3
ภาพเฟซบุ๊ก คางกุ้ง Okusno เจ้าแรกของไทย

ปัจจุบัน โอคุสโน่  ส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ 5 ประเทศ เช่น จากไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาส่งออกไปจีน แต่ปัจจุบันมีขายออนไลน์ผ่าน TMall  และกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทไทย ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่ม เพื่อทำโมเดลธุรกิจใหม่ รูปแบบโค-แบรนด์ ทำตลาด คางกุ้ง by โอคุสโน่ ในต่างประเทศปี 2562

คางกุ้ง โอคุสโน่ วันนี้ทำยอดขาย 8 หลักต่อเดือน มองโอกาสขยาตลาดในต่างประเทศ ที่สนใจโปรดักท์ ที่จากการพัฒนาคางกุ้ง ซึ่งเป็นสแน็ครูปแบบใหม่ที่มีแคลเซียม และมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมนอกจากคางกุ้ง

การเริ่มต้นธุรกิจวันนี้ จะต้องมองโอกาสจากรอบตัว และนำมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ ด้วยความอดทน เพื่อให้ไปถึงจุดที่สำเร็จ!!

 

thumbnail คุณพิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ เจ้าของแบรนด์คางกุ้งอบกรอบ OKUSNO 2
พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์

 

พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ : บอกเล่าที่มาการสร้างแบรนด์ คางกุ้ง by  โอคุสโน่ ผ่านเวทีสัมมนา Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0 จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

Avatar photo