Business

‘ถุงมือยาง’ รับอานิสงส์ โควิด-19 ‘มาเลเซีย’ ได้เปรียบส่งออกมากกว่าไทย

ถุงมือยาง เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย จากความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของโควิด-19

ปัจจุบัน ถุงมือยาง สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี จากความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากจากการเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานของโลกจากวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สะท้อนโอกาสของผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางไทยในการเร่งส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดโลก

gloves 5155220 1280

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางลำดับที่ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ถือเป็นช่วงเวลาทองของไทยในการส่งออกถุงมือยาง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกถุงมือยางไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7,321 ล้านคู่ มูลค่า 449 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันของปี 2562

ในช่วงปี 2553-2562 การขยายตัวของความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนทั้งจากการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก รวมถึงถุงมือยางยังเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์การใช้งานของโลก ทั้งการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และการใช้ในภาคสาธารณสุข ซึ่งสะท้อนการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศต่าง ๆ

ความต้องการ

ข้อมูลจาก Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนใน อุตสาหกรรมถุงมือยาง ของมาเลเซีย คาดการณ์ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกโดยรวมในปี 2563 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ว่าจะอยู่ที่ 3 แสนล้านชิ้น แต่หลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในหลายภูมิภาคทั่วโลก MARGMA ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกโดยรวมในปี 2563 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.45 แสนล้านชิ้น

แต่จากจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงเพิ่มสูงมากขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2563 ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อและแพร่กระจายในหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลให้ EIC มองว่า ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกโดยรวมในปี 2563น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.6 แสนล้านชิ้น โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการถุงมือทางการแพทย์ที่พุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 6 หมื่นล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 57% จากสถานการณ์ปกติ

ถุงมือยาง e1591030616464
การใช้ถุงมือยางในการแพทย์

 

ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีกำลังการผลิตถุงมือทางการแพทย์ 1.25 แสนล้านชิ้น/ปี โดยในปี 2562 มีการผลิตจริง 6.3 หมื่นล้านชิ้น สะท้อนศักยภาพในการผลิตเพิ่มได้อีกมาก ขณะที่กำลังการผลิตของไทยอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านชิ้น/ปี โดยในปี 2562 ผลิตจริงคิดเป็น 85% ของกำลังการผลิตรวม

นอกจากนี้ EIC ยังมองว่า มาเลเซียและไทยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกถุงมือทางการแพทย์ โดยมาเลเซียมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์มากกว่าไทย เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตเพื่อป้อนตลาดโลกได้มากกว่า

ปัจจุบัน มาเลเซียและไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดปริมาณการส่งออกถุงมือยางที่ 62% และ 13% ของปริมาณการส่งออกโดยรวมทั้งโลก ตามลำดับ และตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการผลิตถุงมือยาง ทั้งในมาเลเซียและไทย ต่างเร่งเพิ่มกำลังการผลิต
ถุงมือยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถุงมือทางการแพทย์ เพื่อส่งออกรองรับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

ส่วนแบ่งตลาด

 

อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้อานิสงส์ทางอ้อมเพิ่มเติมจากการส่งออกน้ำยางข้นให้มาเลเซีย เพื่อนำไปผลิตถุงมือทางการแพทย์เพื่อส่งออก เนื่องจากน้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตถุงมือยาง โดยไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณผลผลิตน้ำยางข้นสูงถึง 1.2-1.4 ล้านตัน/ปี และยังเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำยางข้นมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีส่วนแบ่งตลาดการส่งออกน้ำยางข้นที่ 76% ของปริมาณการส่งออกโดยรวมทั้งโลก ซึ่งในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกไปยังมาเลเซีย

ขณะที่ปริมาณผลผลิตน้ำยางสดเพื่อใช้แปรรูปเป็นน้ำยางข้นของมาเลเซียยังมีน้อย เนื่องจากมาเลเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ซึ่งเป็นสินค้าปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาในระดับต่ำ โดยมาเลเซียหันมานำเข้าน้ำยางข้น ซึ่งเป็นสินค้ากลางน้ำจากไทยเป็นหลัก แทนการผลิตน้ำยางข้นใช้เอง

ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นจากไทยไปมาเลเซียอยู่ที่ 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ยังคงแพร่กระจายในวงกว้างทั่วโลก จะส่งผลให้มาเลเซียยังคงมีความต้องการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปริมาณน้ำยางข้น ผลิตส่งออก

อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำยางข้นเป็นการส่งออกสินค้ากลางน้ำ ซึ่งยังไม่ถูกพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มมากนัก ขณะที่มาเลเซียนำน้ำยางข้นที่นำเข้าจากไทยไปผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องสูญเสียไปจากการที่ไทยไม่สามารถแปรรูปน้ำยางข้นไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างเต็มที่

อีกทั้งราคาน้ำยางข้นยังเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางพาราในตลาดโลกในระดับสูง โดยมูลค่าการส่งออกน้ำยางข้นของไทยล่าสุดในปี 2562 อยู่ที่ 1,122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัว 15% ซึ่งเป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ที่หดตัว 11% โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำยางข้นที่ตกต่ำลงตามทิศทางราคายางพาราโลก

รากฐานสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางในมาเลเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ การส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยรัฐบาลมาเลเซียกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับรายได้ให้ประชากรในประเทศ ผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมการลงทุน โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นในกิจการได้ 100% และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งช่วยหนุนให้มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยางในมาเลเซียเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ความสามารถในการผลิต

ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยาง รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในระดับต้นน้ำอย่างผู้ผลิตน้ำยางข้นสามารถยกระดับไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำอย่างถุงมือยาง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดการผลิตถุงมือยาง จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวมของประเทศได้มากขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้แก่ ผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น ซึ่งเป็นผู้แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตถุงมือยางอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน มีผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้นในไทยจำนวน 56 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการไทย 50 ราย และผู้ประกอบการสัญชาติมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ รวมกันอีก 6 ราย

เทียบอุตสาหกรรมไทยมาเลเซีย

หากผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้นไทยได้รับการส่งเสริมให้สามารถยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นผู้ผลิตถุงมือยางได้ ก็จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกถุงมือยางของไทยได้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้นกว่าการส่งออกน้ำยางข้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาขยายตลาดส่งออกถุงมือยางไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกถุงมือยางไทย ได้แก่ เดนมาร์ก กรีซ และออสเตรีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ถุงมือยางต่อจำนวนประชากรสูง และประเทศกลุ่มดังกล่าวยังมีการกระจายการนำเข้าถุงมือยางจากประเทศต่าง ๆ อย่างหลากหลาย อีกทั้งถุงมือยางจากมาเลเซียยังครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก สะท้อนว่าผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางไทยยังมีโอกาสในการเจาะตลาดได้

Avatar photo