COVID-19

ตรวจสอบเงินเยียวยาการเกษตร! ‘ธ.ก.ส.’ เผยโอนแล้ว 7.1 ล้านราย

ตรวจสอบเงินเยียวยาการเกษตร! “ธ.ก.ส.” เผยโอนแล้ว 7.1 ล้านราย วงเงิน 35,518 ล้านบาท จี้เกษตรกรอีก 5.8 แสนรายแจ้งเลขบัญชีด่วน

ตรวจสอบเงินเยียวยาการเกษตร หลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มโอนเงินเยียวยารายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 ให้กับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

ล่าสุดนายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโควิดเดือนแรก ซึ่งสิ้นสุดเมื่อ 31 พฤษภาคม 2563 มีเกษตรได้รับเงินไปแล้ว  7.1 ล้านราย วงเงิน 35,518 ล้านบาท จากรายชื่อที่ ธ.ก.ส. ได้รับมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด 7.68 ล้านราย โดยยังมีเกษตรกร 5.8 แสนราย ที่ยังโอนเงินให้ไม่ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่  3.56 แสนราย ไม่ได้แจ้งเลขบัญชี หรือแจ้งเลขบัญชีไม่ถูกต้อง ส่วนอีก 1.32 แสนราย ได้ส่งรายชื่อกลับให้กระทรวงเกษตรกรฯตรวจสอบอีกครั้ง หลังพบว่าเสียชีวิต หรือมีรายชื่อไม่ตรงกับฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย และที่เหลือ 91,426 ราย เป็นข้าราชการซึ่งไม่เข้าข่ายรับเงินเยียวยา

ตรวจสอบเงินเยียวยาการเกษตร
ทั้งนี้ เกษตรกร 3.56 แสนรายที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา เพราะไม่ได้แจ้งเลขบัญชีหรือแจ้งบัญชีไม่ถูกต้อง ขอให้ตรวจสอบเงินเยียวยาการเกษตรและแจ้งหมายเลขบัญชีได้ทางออนไลน์ผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.com จากนั้นธนาคารจะโอนเงินให้อีกครั้งในทุกวันศุกร์ โดยใช้บัญชีของธนาคารใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินเหมือนกัน

ส่วนเกษตรกรอีก 1.32 แสนราย จะต้องรอให้กระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบข้อมูลกลับมาก่อนว่ามีทายาททำการเกษตรแทนหัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิตจริงหรือไม่ ซึ่งหากตรวจเสร็จ ธ.ก.ส.ก็พร้อมโอนเงินให้ทันที

“ธ.ก.ส.กำลังหารือกับนายอนันต์ สุวรรณ์รัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อหาแนวทางดูแลกลุ่มเกษตรกรที่ตกหล่นไม่ได้รับเงินในเดือนแรก หากมีการแจ้งเลขบัญชีหรือตรวจสอบข้อมูลเสร็จหลังวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ธนาคารจะพิจารณาโอนเงินรวบยอดให้ทั้ง 2 เดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงิน 10,000 บาททันที” นายกษาปณ์ กล่าว

ตรวจสอบเงินเยียวยาการเกษตร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ในส่วนภูมิภาคเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร ซึ่งอาจมีรายชื่อตกหล่น, ไม่ได้รับสิทธิ์ หรือไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรองโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรให้รีบดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เพราะจะหมดเขตภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2563

ขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ของเกษตรกร กรณีรายชื่อตกหล่นจากการเยียวยา ดังนี้

เกษตรกรขอยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง โดยแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้

  • ชื่อ-นามสกุล
  • เลขที่บัตรประชาชน
  • ที่อยู่และรายละเอียดของอาชีพ

ทั้งนี้ สามารถยื่นอุทธรณ์ที่หน่วยงานในพื้นที่ใกล้บ้าน 8 หน่วยงาน ดังต่อไปนี้

1. กรมส่งเสริมการเกษตร ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง

2. กรมประมง ที่สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอทุกแห่ง

3. กรมปศุสัตว์ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกแห่ง

4. กรมหม่อนไหม ที่กรมหม่อนไหม และศูนย์หม่อนไหม 21 แห่ง

5. การยางแห่งประเทศไทย ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด และสาขาทุกแห่ง

6. ยาสูบแห่งประเทศไทย ในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง

7. สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง

8. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทุกจังหวัด

จากนั้น “เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคตรวจสอบ” แล้วส่งต่อ “หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบ” (ระยะเวลา 3 วัน) แล้วส่งต่อให้ “คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณา” (ระยะเวลา 5 วัน) หลังจากนั้นสามารถตรวจสอบได้ที่ www.อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร.com

ส่วนกรณีมีสื่อมวลชนเสนอข่าวเกี่ยวกับจำนวนข้าราชการทำการเกษตร และมีตัวเลขข้าราชการคลาดเคลื่อนสูงถึง 910,000 รายนั้น ข้อมูลจริงที่ถูกต้องมีจำนวน 91,000 รายเท่านั้น ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน นายเฉลิมชัย จึงสั่งการทำการประสานให้ช่วยเสนอข่าวให้ตรงกับตัวเลขที่ถูกต้อง สำหรับข้าราชการทำเกษตรทั้ง 91,000 ราย ทางคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ได้ตัดสินแล้วว่า ไม่สามารถรับเงินเยียวยาได้ และทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ยังไม่มีการจ่ายเงินออกไปให้กับข้าราชการกลุ่มดังกล่าว จึงทำให้ประเด็นนี้เป็นที่ยุติแล้ว

พร้อมกันนี้ นายเฉลิมชัย ยังได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการคู่ขนานของกระทรวงเกษตรฯ ในการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการส่งเสริมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ปีก โดยมีการมอบสายพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ให้เกษตรกรไปเลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือน รวมถึงเป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง ได้ทำรายงานแจ้งผลความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการให้กระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบทุกระยะพร้อมเน้นย้ำให้ข้าราชการได้ติดตามดูแลเกษตรกรให้ดีที่สุด

Avatar photo