COVID-19

‘ผ่อนปรนระยะ 3’ สธ.เตือนอย่าชะล่าใจ เที่ยวต่างแดน ลั่นต้องเปิดโรงเรียนก่อนผับ

ผ่อนปรนระยะ 3 วันแรก สธ. เตือนนักเที่ยว อย่าเพิ่งออกไปเสี่ยงติดโควิดต่างประเทศ หลังญี่ปุ่นปลดล็อก พร้อมยันต้องเปิดโรงเรียนให้ได้ก่อนเปิดผับบาร์ 

นักท่องเที่ยว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากกรณีประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศได้ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ยังไม่แนะนำให้รีบเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งยังไม่ควรเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แม้จะมีตั๋วถูก และประเทศไทยจะเปิดผ่อนปรนระยะ 3 ก็ต้องคิดให้รอบคอบ

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีธุระจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศจริงๆ ก็สามารถไปได้ แต่เมื่อกลับมาประเทศไทย ต้องทำตามมาตรการควบคุมโรคของประเทศไทย โดยการกักตัวในสถานที่ของรัฐ 14 วัน และหากพบการติดเชื้อก็ต้องใช้เวลานานกว่านั้น ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดค้ือ ยังไม่ควรไปท่องเที่ยวต่างประเทศในระยะนี้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่กลุ่มธุรกิจสถานบันเทิง ร้องขอให้รัฐผ่อนปรนมาตรการ ให้สามารถเปิดบริการได้ในการผ่อนปรนระยะต่อไปประมาณกลางเดือนมิถุนายนนั้น ขอยืนยันว่า การเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ จะเปิดได้ต้องหลังจากการเปิดโรงเรียนแล้ว เพราะหากมีความเสี่ยงเกิดขึ้นจากการเปิดสถานบันเทิง จะทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดได้ ซึ่งได้นำเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว

นพ.ธนรักษ์​ ผลิพัฒน์
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นกังวลขณะนี้คือ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยรุ่น ที่มีความเป็นตัวเองสูง และมีการทำกิจกรรมรวมกลุ่มกันลักษณะต่างๆ รวมถึงการสังสรรค์ ทั้งในมหาวิทยาลัย หอพัก ทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มเด็กเล็ก ที่มีโอกาสการรับเชื้อจากในโรงเรียนเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น พบว่า ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมาสักระยะแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา หากพลาด เผลอมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากโอกาสที่จะเจอการระบาดอีกครั้งก็มีมากขึ้น

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระดับ คือการติดเชื้อวงจำกัด การติดเชื้อในวงกว้าง และการระบาดระดับวิกฤติหรือมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าจำนวนเตียงที่สามารถรองรับได้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกจังหวัดในประเทศไทยยังไม่เคยมีการระบาดในระดับวิกฤติ อาจมีบางจังหวัดที่ต้องส่งทีมลงไปช่วย เพราะจำนวนผู้ป่วยมาก โดยขณะนี้ไทยอยู่ในระดับ 1 คือ พบผู้ป่วยวงจำกัด

ผู้ป่วยใหม่ 1พ.ค.

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังเดินหน้ามาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้น ในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ส่วนมาตรการบุคคลขอให้กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อ้วน ไม่ควรออกจากบ้าน ส่วนครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยงก็ต้องระมัดระวังการรับเชื้อมาจากข้างนอก หรือแม้แต่คนทั่วไปก็ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เลี่ยงการอยู่เป็นกลุ่มก้อน ที่สำคัญคือสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน และล้างมือบ่อยๆ

 

“ขอย้ำว่าการสวมเฟซชิลด์ เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถป้องกันการแพร่ หรือการรับเชื้อได้ เหมือนกับการไม่สวมหน้ากากเลย ดังนั้นขอให้สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าด้วย และสุดท้ายคือมาตรการองค์กร กระทรวงสาธารณสุขขอร้องว่าให้ช่วยกันทำงานที่บ้าน หรือเหลื่อมเวลาให้มากที่สุด ซึ่งองค์กรต้อวชงช่วยสนับสนุนให้ความร่วมมือ”นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Avatar photo