World News

ทำไม ‘สเปซเอ็กซ์’ ส่ง 2 นักบินอวกาศสู่วงโคจร ถึงเป็นภารกิจครั้งประวัติศาสตร์?

องค์การอวกาศนาซา (NASA) และ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทด้านการขนส่งทางอวกาศ ได้ส่งยานอวกาศครูว์ ดรากอน (Crew Dragon) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) พร้อมส่งนักบินอวกาศชาวอเมริกัน 2 คนขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

ยานอวกาศครูว์ ดรากอนได้ถูกส่งขึ้นไปโดยจรวดสเปซเอ็กซ์ ฟัลคอน9 (SpaceX Falcon 9) เมื่อเวลา 15.22 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออกของสหรัฐ นับเป็นการปล่อยยานครั้งประวัติศาสตร์โดยใช้ฐานปล่อยจรวด 39เอ (Launch Complex 39A) ในศูนย์อวกาศเคนเนดี ซึ่งมีนักบินอวกาศที่เกษียณแล้วมาร่วมควบคุมยาน 2 คนได้แก่ บ๊อบ เบห์นเกน (Robert Behnken) และ ดัก เฮอร์ลีย์ (Doug Hurley)

สเปซเอ็กซ์

ความยิ่งใหญ่ของ ‘อเมริกา’

จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้อำนวยการนาซาทวีตว่า “เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่เราได้ส่งตัวนักบินอวกาศชาวอเมริกัน ขึ้นไปบนจรวดอเมริกัน จากผืนดินอเมริกา ผมภูมิใจในทีมนาซาและสเปซเอ็กซ์อย่างยิ่งที่มาร่วมสร้างช่วงเวลานี้”

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี ต่างมาดูภารกิจครั้งนี้ที่ศูนย์อวกาศ

มันน่าเหลือเชื่อ ทั้งเทคโนโลยี ทั้งพลัง ผมภูมิใจในตัวผู้คนที่นาซาอย่างยิ่ง ทุกคนทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อคุณได้มาเห็นภาพแบบนี้ คุณย่อมรู้สึกว่ามันน่าเหลือเชื่อ” ทรัมป์กล่าวหลังภารกิจปล่อยยานอวกาศ

เพนซ์กล่าวว่า สิ่งนี้จะเป็นไปไม่ได้หากปราศจากความกล้าหาญและทักษะที่ช่ำชองของนักบินอวกาศชาวอเมริกันสองคน

ด้านนาซายืนยันว่าภายหลังการปล่อยจรวดเพียงไม่กี่นาที จรวดท่อนที่ 1 และ 2 แยกตัวออกมาสำเร็จ

จรวดท่อนที่ 1 แบบนำกลับมาใช้ใหม่ของฟัลคอน 9 ประสบความสำเร็จในการลงจอดที่เรือโดรนที่ชื่อว่า “แน่นอนผมยังรักคุณ” (Of Course I Still Love You) นอกชายฝั่งฟลอริดา ด้านยานอวกาศครูว์ ดรากอนเดินทางถึงวงโคจรโลกประมาณ 12 นาทีหลังจากปล่อยตัว และกำลังเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ยานอวกาศมีกำหนดจะไปยังสถานีอวกาศเมื่อเวลา 10.27 น. ของวันนี้ (31 พ.ค.) ตามเวลามาตรฐานตะวันออกของสหรัฐ ซึ่งแม้ว่ายานดังกล่าวจะได้รับการออกแบบมาให้ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่นักบินอวกาศทั้ง 2 และสถานีจะตรวจสอบการเข้าใกล้และการลงจอด และอาจตัดสินควบคุมยานอวกาศเองได้ในกรณีจำเป็น

สเปซเอ็กซ์
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมชมภารกิจจรวดสเปซเอกซ์ฟัลคอน 9 บรรทุกยานอวกาศครูว์

เปิดรายละเอียดภารกิจ

หลังจากเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว เบห์นเกน และ เฮอร์ลีย์ จะได้รับการต้อนรับ ณ สถานีและกลายเป็นสมาชิกของทีมนักบินอวกาศชุดเอ็กซ์พีดิชัน 63 (Expedition 63) พวกเขาจะทำการทดสอบต่างๆ บนยานครูว์ ดรากอนด้วย นอกเหนือจากการทำวิจัยและงานอื่นๆ กับลูกเรือที่สถานีอวกาศ

ภารกิจจะสิ้นสุดด้วยการปล่อยครูว์ ดรากอนออกจากสถานี การออกจากวงโคจร และการส่งเบห์นเกนและเฮอร์ลีย์กลับสู่ผืนโลกอย่างปลอดภัยในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ยังไม่มีการประกาศระยะเวลาของภารกิจดังกล่าว ซึ่งนาซาระบุว่าเรื่องนี้จะได้รับการตัดสินที่สถานี จากความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจส่งลูกเรือเชิงพาณิชย์ต่อไป

ทั้งนี้ เบห์นเกนและเฮอร์ลีย์เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศชุดแรกๆ ที่เริ่มทำงานและฝึกฝนการใช้ยานอวกาศที่มีมนุษย์ประจำการรุ่นใหม่ของสเปซเอ็กซ์ พวกเขาได้รับเลือกจากประสบการณ์ที่โชกโชนด้านการบินและการเป็นการทดสอบนำร่อง ที่รวมถึงภารกิจหลายอย่างเกี่ยวกับกระสวยอวกาศ

เบห์นเกนจะเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการร่วมสำหรับภารกิจ ทำหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ เช่นการนัดพบ การเชื่อมต่อ และการปลดการเชื่อมต่อ รวมถึงกิจกรรมขณะที่ยานอวกาศเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ

ส่วนเฮอร์ลีย์จะเป็นผู้บัญชาการยานอวกาศ ทำหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ เช่น การปล่อยจรวด การลงจอด และการกู้จรวด

สเปซเอ็กซ์
บ๊อบ เบห์นเกน และ ดัก เฮอร์ลีย์

ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ของ ‘สเปซเอ็กซ์’

ภารกิจที่มีชื่อว่า เดโม-2 (Demo-2) นี้ เป็นการส่งตัวลูกเรือขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกของจากผืนดินสหรัฐนับตั้งแต่โปรแกรมกระสวยอวกาศของนาซายุติลงในปี 2554 ทั้งยังเป็นการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกของบริษัทเอกชน และการจารึกยุคใหม่แห่งการสำรวจอวกาศของสหรัฐ

นับตั้งแต่การบินครั้งสุดท้ายของโครงการกระสวยอวกาศของนาซาในเดือนกรกฎาคม 2554 นาซาได้พึ่งพาจรวดและยานอวกาศโซยุซของรัสเซีย ในการส่งมนุษย์เดินทางไป-กลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ ตั้งแต่นั้นมา นาซา สเปซเอ็กซ์ และ โบอิ้ง ได้ร่วมทำงานกันมาหลายปีเพื่อยุติการพึ่งพานั้น

ในปี 2557 บริษัททั้งสองได้ลงนามในสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการลูกเรือพาณิชย์ของนาซา เพื่อพัฒนาชุดนักบินอวกาศแท็กซี่ (Astronaut Taxi) และภารกิจส่งลูกเรือไป-กลับห้องปฏิบัติการในวงโคจร

ยานอวกาศครูว์ ดรากอนเคยมาถึงสถานีอวกาศนานาชาติครั้งหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้ในภารกิจเดโม-1 (Demo-1) ซึ่งไม่มีนักบินอวกาศมาด้วยในเดือนมีนาคม 2563 ส่วนเดโม-2 (Demo-2) เป็นภารกิจส่งมนุษย์เข้าสู่วงโคจรครั้งแรกของสหรัฐฯ

นี่จึงเป็นภารกิจครั้งแรกที่ส่งงลูกเรือสู่วงโคจรของโลกสำหรับสเปซเอ็กซ์  ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งชึ้นมาเป็นเวลา 18 ปีและเป็นครั้งแรกในการส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์ที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชน

สเปซเอ็กซ์

เที่ยวบินนี้เป็นการทดสอบขั้นสุดท้ายของสเปซเอ็กซ์ สำหรับโปรแกรมลูกเรือพาณิชย์ของนาซา ที่จะให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับประสิทธิภาพของจรวดฟัลคอน 9, ยานอวกาศครูว์ ดรากอน และระบบภาคพื้นดินเช่นเดียวกับปฏิบัติการในวงโคจร การเชื่อมต่อ และการลงจอด

เที่ยวบินทดสอบนี้จะให้ข้อมูลที่มีเป็นประโยชน์ต่อการรับรองประสิทธิภาพระบบการขนส่งลูกเรือของสเปซเอ็กซ์ สำหรับการดำเนินเที่ยวบินปกติในการส่งนักบินอวกาศเดินทางไป-กลับจากสถานีอวกาศ

ขณะนี้ สเปซเอ็กซ์กำลังเตรียมอุปกรณ์สำหรับภารกิจการหมุนเวียนลูกเรือที่ขึ้นไปประจำการยังสถานีอวกาศเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากเที่ยวบินทดสอบนี้เสร็จสิ้นแล้ว

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

Avatar photo