Opinions

มนุษย์ออฟฟิศกลุ่มมิลเลนเนียล…เครียด! Work-life ไม่ Balance

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
152

“เครียด – เหนื่อย – นั่งหน้าเมื่อยอยู่แต่ออฟฟิศ” ถ้าคำเหล่านี้ฟังดูช่างเข้ากับชีวิตของคุณเหลือเกินก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะคุณไม่ได้เผชิญกับสิ่งนี้คนเดียว แต่นี่คือวัฎจักรอันแสนเจ็บปวดที่เหล่ามนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศในกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18 – 35 ปี)

จากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของซิกน่า บริษัทประกันสุขภาพระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า “เรื่อง Work-Life ไม่ Balance” เป็นหัวเรื่องแรงแซงโค้งที่น่าสนใจสำหรับ #คนรักงาน2018 มากเลยทีเดียว

Thais and stress 2018

“มนุษย์ออฟฟิศ ชีวิตไม่ง่าย”

ผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ของ “ซิกน่า” เผยข้อค้นพบที่น่าตกใจว่า คนไทยถึง 91% กล่าวว่าตนเองอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 86%

โดยจากทุกช่วงอายุ กลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18 – 35 ปี) เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสมดุลของการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) รวมถึงมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน (Job stability) มากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 35 – 49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือ เรื่องการเงิน (43%) ตามมาด้วยเรื่องการงาน (35%)

เครียดแล้วทำอย่างไร นายจ้างช่วยไหม

แม้ 91% ของคนไทยจะยอมรับว่าตนเองเครียด แต่คนไทยในกลุ่มนี้อีก 81% กล่าวว่าแม้จะเครียดแต่ตนก็สามารถจัดการกับปัญหาความเครียดเหล่านั้นได้โดยใช้วิธีการพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อน

นอกจากนั้นผลสำรวจ ยังพบว่า แม้กลุ่มวัยทำงานจะเป็นกลุ่มที่เปิดรับการรักษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มอายุอื่น แต่มีคนไทยเพียง 13% เท่านั้นที่เข้าพบบุคลากรด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาความเครียดของตนเอง โดยนอกจากสาเหตุด้านค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว ยังเกี่ยวกับความรู้สึกอับอายที่จะบอกให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้นายจ้างในประเทศไทยจำนวนถึง 63% จะให้ความสำคัญกับการจัดการความเครียดของพนักงาน (Stress management) แต่มีหนุ่มสาวออฟฟิศเพียง 30% เท่านั้นที่กล่าวว่าที่ทำงานของตนมีการให้ความช่วยเหลือในการจัดการความเครียดอย่างเพียงพอ

ในขณะที่อีก 37% กล่าวว่านายจ้างไม่มีการช่วยเหลือใดๆเกี่ยวกับการจัดการความเครียดเลย นอกจากนั้นผลสำรวจฯยังเผยอีกว่า โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน (Workplace Wellness program) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยจัดการความเครียดให้กับพนักงานได้ โดยบริษัทที่มีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานจะมีจำนวนพนักงานที่รู้สึกว่าตนไม่สามารถจัดการความเครียดได้เองน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีโปรแกรมฯดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

ผลสำรวจยังเผยเพิ่มเติมว่า สิ่งที่พนักงานต้องการให้นายจ้างจัดหาให้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคมะเร็ง ความคุ้มครองสุขภาพดวงตาและสายตา และการจัดให้มีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือมนุษย์ออฟฟิศถึง 82% บอกว่าการมีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน เช่น มีการจัดตั้งชมรมกีฬาให้พนักงานเข้าร่วม การจัดคอร์สโยคะ หรือ การขยายความคุ้มครองของประกันสุขภาพกลุ่มให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกองค์กรที่จะทำงานด้วย

“ป่วยแล้วมา ดีกว่าไม่มาจริงหรือ”

เคยไหมที่ไข้ขึ้นแต่ก็ยังต้องมาประชุม ขาหักแต่ก็ยังต้องกะเผลกมาถึงออฟฟิศ? หรืออยู่ดึกดื่นเกินจำเป็น เพราะในแผนกไม่มีใครลุกกลับบ้านสักคน

ภาวะเช่นนี้เรียกว่า “Presenteeism” หรือการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วยหรือมีสภาวะร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ยังไม่พร้อม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน (Job security) จำนวนงานที่มากเกินไป (Overloaded work) วัฒนธรรมองค์กร (Work culture) ที่อาจกดดันให้พนักงานต้องแสดงตนในที่ทำงานเพื่อแสดงความทุ่มเท หรือแม้แต่การไม่ยอมรับความจริงของตัวพนักงานเอง (Denial) ที่ทำให้ฝืนร่างกายตนเองเข้ามาทำงาน

จากผลสำรวจฯ พบว่า คนไทยถึง 9 ใน 10 หรือราว 89% กล่าวว่าตนจะเข้ามาทำงานแม้จะเจ็บป่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 67% โดยการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วยหรือมีสภาวะร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity) โดยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงจาก 100% เหลือเพียง 74% เท่านั้น

เกษียณไม่สุข

ต่อเนื่องจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ360° ของซิกน่าเมื่อปีที่แล้วที่เราพบว่า 75% ของคนไทยยังไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้ในยามเกษียณ เนื่องจากขาดการเตรียมพร้อมด้านการเงินที่ดีพอ เพราะคิดว่า“ตนเองยังไม่แก่” ทำให้หลายคนตกสู่ “กับดักอายุ” (Age Trap)

ในปีนี้คนไทยก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินของตนเองเช่นเดียวกัน โดยคนไทยถึง 40% คาดว่าเมื่อเกษียณแล้วจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยเงินเก็บของตนเอง อีก 29% คิดจะพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐในการดูแลและจ่ายค่ารักษาพยาบาล และมีคนไทยเพียง 23% เท่านั้นที่บอกว่ามีความคุ้มครองที่เพียงพอจากแผนประกันสุขภาพส่วนบุคคลที่ทำไว้

การสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360°ของซิกน่า ได้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สี่แล้ว โดยได้สำรวจและติดตามทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองในห้าด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการทำงาน ใน 23 ประเทศทั่วโลก