COVID-19

สธ.ลุยเชิงรุก ตรวจโควิด-19 ทั่วประเทศ 1 แสนราย ภายใน มิ.ย.นี้

สธ.เดินหน้าค้นหาเชิงรุก ตั้งเป้าลุยตรวจทั่วประเทศ 1 แสนราย ภายในเดือนมิถุนายนนี้ มอบหมายคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นหัวเรือใหญ่

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการทางห้องปฏิบัติการอย่างเข้มข้น โดยแบ่งกลุ่มในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ที่เข้าข่ายสอบสวนโรค กลุ่มที่ 2 คือผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ และกลุ่มที่ 3 คือการค้นหาเชิงรุก โดยเบื้องต้นต้องตรวจอย่างน้อย 100,000 ตัวอย่าง ภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้

เชิงรุก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนในหลายจังหวัด เช่น นครราชสีมา สุราษฏร์ธานี ปัตตานี เป็นต้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานเพราะทำพร้อมกัน และมีห้องปฏิบัติการครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งฐานข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การจับสัญญาณการระบาดของโรคได้ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการตรวจไปแล้วกว่า 400,000 ตัวอย่าง ทำให้สามารถควบคุมโรคและควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี”

ขณะที่กลไกสำคัญในการเฝ้าระวังเชิงรุกคือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยส่วนกลางจะให้นโยบายว่าจะตรวจกลุ่มไหน สถานที่ไหน และทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะพิจารณาจากข้อมูลของจังหวัดว่าพื้นที่ไหนและกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นข้อดีทำให้พื้นที่สามารถปรับนโยบาย นำไปสู่ภาคปฏิบัติของตนเองและกำหนดออกมาว่าจะตรวจกี่คน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

สำหรับการเฝ้าระวังเชิงรุกจะประเมินจาก 2 อย่าง คือ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เป็นผู้ที่ทำงานต้องสัมผัสกับบุคคลจำนวนมากหรือทำงานในที่สาธารณะมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยมาก เช่น บุคลากรสาธารณสุข คนที่ขับรถสาธารณะ เป็นต้น และสถานที่ที่มีการรวมคนกันอยู่อย่างหนาแน่นและทำเรื่องเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing ได้ยาก เช่น แรงงานที่อยู่กันอย่างแออัดในบางกลุ่ม เช่น ที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือ กลุ่มผู้ต้องหา เป็นต้น

Avatar photo