Politics

สู้สุดทาง!! ฟ้องบอร์ด-กดดันรัฐแบน 3 สารเคมีอันตราย

thumbnail ARC 5779
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

กระแสแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส ถูกโหมกระหน่ำขึ้นมาอีกครั้งในบ้านเรา ทันที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการตัดสินคดีของคณะลูกขุนศาลแคลิฟอร์เนีย ให้บริษัทมอนซานโต้ ยักษ์ใหญ่ด้านทีเคมีเกษตรของโลกจ่ายเงินชดเชยกว่า 289 ล้านดอลลาร์ ให้กับ นายดีเวย์น จอห์นสัน ชายอเมริกัน อดีตคนสวนโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองบินิเซีย รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทหลังจากที่พบว่า ตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อปี 2557 และจะมีชีวิตได้ไม่นาน

โดยอ้างถึงสาเหตุจากการใช้ผลิตภัณฑ์ปราบวัชพืชของบริษัททั้งราวด์อัพ และแรงเจอร์ ที่มีไกลโฟเสตเป็นส่วนประกอบ นอกจากคดีของนายจอห์นสันแล้วยังมีอีกว่า 5,000 คดีที่ยื่นฟ้องบริษัทมอนซานโต้ในกรณีคล้ายกัน

ในเวลาไล่เลี่ยศาลกลางสหรัฐ มีคำสั่งให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ประกาศห้ามขายคอลไพริฟอสสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชภายใน 60 วัน

คำตัดสินดังกล่าวแสดงถึงพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ที่ไม่อาจกลบอิทธิพลของเอกชนยักษ์ใหญ่ ที่เป็นผู้ผลิตในสหรัฐเอง สำหรับประเทศไทยผลกระทบของสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ถูกหยิบยกมาโดยตลอดและมีการรณรงค์มาตามลำดับให้รัฐบาลไทยแบนเหมือนในหลายๆประเทศ

และถึงจุดแตกหักเมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน นัดประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และมีมติ ไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่ให้จำกัดการใช้แทน โดยให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งดูแลการนำเข้าและการใช้ไปจัดทำหลักเกณฑ์การจำกัดการใช้ภายใน 2 เดือน เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก่อนจะประกาศบังคับใช้ต่อไป

โดยระบุถึงเหตุผลสำคัญของการไม่แบนครั้งนี้ว่า “ได้มีการพิจารณาจากข้อมูลที่คณะอนุกรรมการที่เสนอเข้ามา ทั้งข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากฝ่ายผู้สนับสนุนและคัดค้าน เห็นว่ายังมีเหตุผลไม่มากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้ ” 

3 เหตุผลยื่นฟ้องบอร์ดวัตถุอันตราย

เป็นที่มาให้เครือข่ายงัดกฎหมายขึ้นมาใช้เป็นมาตรการขั้นสุดท้าย โดยรวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ระบุว่าในสัปดาห์หน้า 3 องค์กรประกอบด้วย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่มีประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และมีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157

ขณะเดียวกัน กำลังเปิดช่องทางให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มาร่วมยื่นฟ้องด้วยผ่านเว๊ปไซด์ www.chang.org  ปัจจุบันอยู่ระหว่างสอบสวน และ รวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากสารเคมีอันตรายทั้ง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งมีอยู่ในหลายๆพื้นที่

นายวิฑูรย์ อธิบายถึง เหตุผลของการยื่นฟ้อง  3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

  1. คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
  2. กระบวนการที่นำมาสู่มติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมหลายประการ
  3. การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมามีผู้มีส่วนได้เสียอยู่ในการประชุมและลงมติในครั้งนั้นด้วย

ข้อมูลสนับสนุนที่ทำให้เห็นว่ากระบวนการที่นำมาสู่มติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมถูกแจกแจงเป็น 11 ประเด็น ได้แก่

  • จงใจเลือกข้อมูลมาสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อ
  • ซ่อนข้อมูลผลกระทบ
  • โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ
  • บิดเบือนเหตุผลการเสนอแบน
  • แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง
  • ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ๆ
  • อ้างข้อสรุปปัญหาเล็กบิดบังปัญหาใหญ่
  • เลือกใช้ข้อมูลจากบรรษัท
  • โยนบาปว่าเป็นความผิดของเกษตรกร
  • ละเลยไม่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า
  • มีการลงมติชี้นำกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งที่อนุกรรมการเหล่านี้มาจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้สารพิษอันตรายมาตั้งแต่ต้น

เขาย้ำว่า ปัจจุบันมีหลายองค์กรรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะมีข้อมูลทางวิชาการทั้งทางการแพทย์ และงานวิจัยมากมากในต่างประเทศ รวมถึงในไทย ที่ชี้ชัดถึงผลกระทบของสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เช่น งานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ที่พบว่า พาราควอต เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง และยังพบว่าทั้ง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส สามารถตกค้างและส่งผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้

จะยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ถึงการละเลยไม่ปฏิบัติตามทำหน้าที่ของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย จากนั้นจะพิจารณายื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นลำดับถัดไป

ส่วนการที่รัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่จะมีการประชุมวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ก็อาจเป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็มีคณะกรรมการที่สูงกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมาตรวจสอบการทำงาน ซึ่งต้องติดตามดูการทำงานต่อไป

S 1573107
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ฝากความหวังกฎหมายใหม่ส่งเสริมเกษตรยั่งยืน

หลายต่อหลายเวทีก่อนหน้านี้ยังไม่มีนายแพทย์ออกโรงเอาด้วยกับการแบนมากนัก จนกระทั่งไม่นานมานี้นำโดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่าจุดยืนของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ ต้องแบนทั้ง 3 ชนิดเพราะผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างชัดเจน ส่วนจะหาสารใดมาทดแทนนั้นเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องหาทางออก

“ เพราะกระทรวงเกษตรฯรับรู้ถึงอันตรายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมาอย่างดี จากการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทั้งทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็มีข้อมูลผลกระทบในมือมากมายแต่จงใจละเลยนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณา”

สำหรับการขับเคลื่อนล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า ได้หารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้รับทราบถึงผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ซึ่งก็เห็นด้วยว่ามีผลกระทบจริงที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ จากการได้รับสารเคมีนี้ทางตรง ทำให้เกิดผู้ป่วยมากขึ้น เกิดผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น และก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการตกค้างของสารเคมี

เขา ย้ำว่าในระยะสั้นการขับเคลื่อนสำคัญต้องทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ส่วนในระยะยาวรอความหวังที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรยั่งยืน ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆของประเทศ เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรกรรมธรรมชาติของประเทศ

สำหรับข้อมูลอันตรายของสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ที่บุคลากรสาขาต่างๆจับมือเผยแพร่ผลกระทบก่อนหน้านี้ ในส่วนของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้รายงานถึงอันตรายร้ายแรงจากความเป็นพิษเฉียบพลันของพาราควอตที่มีผลต่อมนุษย์โดยไม่มียาถอนพิษ หากสะสมทำให้เกิดมะเร็งปอด และจากการทดลองในสัตว์ทดลองพบเกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหว

ขณะที่ข้อมูลของศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2553-2559 พบอันตรายของผู้ป่วยในประเทศไทย ที่ได้รับพาราควอตสูงถึง 46.18%  มีอัตราการตาย 10.2% จากผู้ป่วยทั้งหมด 4,223 คน เสียชีวิต 1,950 คน  ผสมโรงด้วยรายงานของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ที่ได้รวบรวมผลการศึกษาวิจัยของสมาคมแพทย์ทางระบบประสาทของสหรัฐอเมริกาในปี 25564 มีการตีพิมพ์รายงานนับร้อยชิ้นจากทั่วโลก ได้ข้อสรุปตรงกันว่า หากได้รับสารเคมีดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสัน

ขณะที่รายงานของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันถึงข้อมูลการศึกษาที่จังหวัดน่าน ซึ่งใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมากในนาข้าว พบมีการตกค้างในสัตว์ในนาข้าวอย่างชัดเจน ทั้งกบหนอง หอยกาบน้ำจืด ปลากะมัง

ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้ทำการลงพื้นที่ศึกษา เช่น น่าน หนองบัวลำภู ลำพูน ลำปาง พบการสะสมของพาราควอตและไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อม น้ำ ผักและสัตว์

ทีดีอาร์ไอย้ำเกษตรอินทรีย์คือทางออกยั่งยืน

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนครั้งนี้ด้วย ระบุว่าผลการศึกษาวิจัยของหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศยืนยันถึงความเลวร้ายของสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด แต่การไม่ยกเลิกการใช้เป็นเพราะรัฐบาลไม่หนักแน่นพอ

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กังวลก็พบว่า หากต้องยกเลิกก็ไม่พบเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ขณะที่ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีมากกว่าและชัดเจนกว่า

ส่วนผลกระทบของเกษตรกรนั้น เห็นว่าการทำเกษตรที่ไม่ใช่สารเคมีในระยะยาวแล้วมีผลดีมากกว่าในทุกเรื่อง ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดีกว่า และยังได้รับผลตอบแทนทางสุขภาพ อยู่ที่เราต้องช่วยกันทำให้เกษตรกรปรับพฤติกรรมเท่านั้น

“การทำเกษตรปลอดสารเคมีคือทางออกของประเทศ ในระยะแรกอาจเป็นเรื่องลำบากเพราะการทำเกษตรแบบนี้ เกษตรกรต้องขยันและอดทน แต่ในระยะยาวแล้วเป็นการทำเกษตรที่ให้ผลผลิตดี และให้ตอบแทนกับเกษตรกรอย่างดี”

เขา ย้ำในตอนท้ายถึงรัฐบาลว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องอ่านและแยกแยกให้ออก ว่ามีอิทธิพลและอำนาจของประโยชน์ทุนแค่ไหนที่เข้ามาอยู่ในเรื่องนี้ หากจริงใจมากพอไม่ยากที่จะตัดสินใจยกเลิกการใช้ เพื่อลดข้อกังวลต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจทำงานเป็นระยะ เพื่อให้เวลาเกษตรกรปรับตัว ระยะแรกต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อใช้สารทดแทนไปจนถึงการเลิกใช้ในที่สุด

Avatar photo