Opinions

เศรษฐกิจไทย มีคำตอบจากตัวเลข

Avatar photo
669

“ปี 2561 จะเป็นปีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างเต็มที่ และเศรษฐกิจไทยจะเฟื่องฟู”   เป็นประเด็นในการแถลงยืนยันของโฆษกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อราวต้นปี 2560 ที่ผมติดตามมาอย่างต่อเนื่อง

ผ่านไป 1 ปี รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล เปิดเผยในเดือนพฤษภาคม 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2561 ขยายตัวได้ถึง 4.8% พร้อมบอกด้วยว่า สิ่งที่น่ายินดี จะเห็นได้ว่าทุกภาคเศรษฐกิจดีขึ้นหมด

แต่หนึ่งเดือนต่อมา นิด้าโพลได้เปิดผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย”  ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายน 2561 พบว่า คนไทย 54.88% มองภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปี 2561 แย่ลง เพราะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

รองลงมา 30.24% ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเท่าเดิม เพราะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย

เมื่อผลการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของฝ่ายรัฐบาล และผลสำรวจจากนิด้าโพลเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความสับสนกับผู้ติดตามเรื่องเศรษฐกิจและอาจมีข้อสงสัยว่าในความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยโดยรวมดีขึ้นจริงหรือไม่

ผมจึงไปค้นหาข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจใช้เป็นคำอธิบาย เพื่อคลายความสงสัยในประเด็นต่างๆ

เริ่มจากเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ตัวเลขที่ได้จากหน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนไทยพบว่า  ตั้งแต่ปี 2556-2560 รายได้ของครัวเรือนโดยรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 31 บาทต่อเดือนเท่านั้น

เมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่ามีถึง 37 จังหวัด ที่รายได้ครัวเรือนลดลง (เพิ่มจากปี 2558 ที่มี 34  จังหวัด รายได้ลดลงในเวลานั้น) โดยเฉพาะครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร มีรายได้ในปี 2558 ลดลงถึง 3,619 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2556

ส่วนในปี 2560 รายได้ครัวเรือนกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นเพียง 136 บาทเท่านั้น ทำให้รายได้เฉลี่ยของกรุงเทพมหานครยังคงต่ำกว่ารายได้ที่เคยได้รับในปี 2556 เช่นเดียวกับภาคเหนือ และ ภาคใต้ สำหรับภาคอื่นๆ ถึงแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมา โดยสวนทางกับรายได้ ทำให้ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า ตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งในปี 2561 นี้ สถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ตามรายงานของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ได้มาจากตัวเลขการลงทุนต่างประเทศที่รายงานโดย การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่า เงินทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา เงินทุนไหลเข้าไทยจากต่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.9 แสนล้านบาทในปี 2556 เหลือเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาทในปี 2559 เท่านั้น

นักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม ที่ปัจจุบัน FDI ไหลเข้าทะลุหมื่นกว่าล้านดอลลาร์ไปแล้ว

ในขณะที่ตัวเลขการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะนำเสนอจำนวนเงินลงทุนที่มีผู้อื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งตัวเลขจะแตกต่างจาก UNCTAD อย่างสิ้นเชิง

อีกเรื่องที่ผมเข้าไปตรวจสอบดู คือเรื่อง การส่งออก ก็พบว่ามูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 2.2-2.3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2560 เท่านั้น ซึ่งเกือบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย หรือเรียกว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของการส่งออกติดลบ

แต่ถ้าดูเฉพาะปี 2560 จะพบว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออก 10% ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากฐานมูลค่าการส่งออกของปี 2559 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ

เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นปัญหาระยะสั้นหรือระยะยาว หรือเกิดจากปัญหาความสามารถในการแข่งขัน

วันนี้แม้รัฐบาลจะพยายามอัดฉีดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านหลายโครงการ แต่การเบิกจ่ายงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ยังล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ปีงบประมาณ 2560 การเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของรายจ่ายลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 21% คาดว่า ในปีงบประมาณ 2561 น่าจะทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น จากการเข้าไปศึกษาดูตัวเลขเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับ รายได้-รายจ่ายของครัวเรือนไทย ในช่วงระหว่างปี 2556-2560 แค่เพียงเรื่องเดียว ก็พอจะอธิบายได้แล้วว่า ทำไมประชาชนส่วนใหญ่ จึงยังรู้สึกว่า “เศรษฐกิจแย่” ในขณะที่รัฐบาลว่า “เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น” โดยที่ไม่ต้องไปดูเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) หรือการส่งออกที่ไม่ขยายตัวขึ้นจริงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะอาจมองว่าไกลตัวประชาชน  พร้อมกับการที่รัฐบาลออกมาแถลงว่า GDP ของประเทศขยายตัวต่อเนื่องดีขึ้นเป็นลำดับ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 2561 ว่า GDP โต 4.6% จะส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 4.8%  ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ไว้ แต่เศรษฐกิจที่ขยายตัวโตขึ้นเป็นลำดับ ก็ยังไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจครัวเรือนไทยจะดีตามไปด้วยเสมอไป

จึงเป็นภารกิจของรัฐบาลที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยการสร้างงานเพิ่ม สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเม็ดเงินที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องไม่กระจุกตัวอยู่เพียงกับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ต้องกระจายทั่วถึงไปยังผู้มีรายได้ปานกลาง และผู้มีรายได้น้อยด้วย

นี่เป็นหลายเรื่อง ที่ผมอยากฝากความหวัง

ที่มา: เฟซบุ๊ก Parnpree Bahiddha-nukara