POLITICS-GENERAL

ประกาศซ้ำ ! เร่ง 7 กลุ่มเสี่ยง รีบฉีดวัคซีน ป้องกัน ‘ไข้หวัดใหญ่’

ประกาศ! เร่ง 7 กลุ่มเสี่ยง รีบไปฉีดวัคซีน ป้องกัน ‘ไข้หวัดใหญ่’ เหตุอากาศเปลี่ยนแปลง หวั่นกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง 

shot 31144 640 1
ช่วงเปลี่ยนแปลงฤดู ประกอบกับยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ กรมควบคุมโรค จึงประกาศรณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เร็วขึ้น จากเดือนมิถุนายน เป็นเดือนพฤษภาคม เพื่อช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทันต่อสถานการณ์ โดยกรมควบคุมโรค ประกาศอีก ขอให้กลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้เรีบมาฉีดวัคซีนเป็นการเร่งด่วน ประกอบด้วย

1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

3. ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)

4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ

7. โรคอ้วน หรือ ผู้ที่มีน้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

รวมทั้งกลุ่มบุคลากรการแพทย์ โดยสามารถขอรับบริการวัคซีน ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 สิงหาคม 2563 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แต่อยู่นอกสิทธิ์หลักประกันสุขภาพให้ติดรพ.ตามสิทธิ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ฤดูฝน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้มีฝนตก อากาศมีความชื้นสูงขึ้น เอื้อต่อการระบาดของเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีภูมิต้านทานน้อย เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวหากป่วยจะมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัสเกิดจากการติดเชื้อ Influenza Virus โดยการติดเชื้อที่พบในมนุษย์ คือ สายพันธุ์ A, B และ C ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย มักพบการระบาดได้ในสถานที่แออัด หรือในชุมชน

ทั้งนี้สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกช่วงกลุ่มอายุ การติดต่อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากปาก และการหายใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ บางรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาโดยเร็ว

“ไข้หวัดใหญ่” มีอาการของโรคใกล้เคียงกับโควิด 19 โดย จะมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งทั้ง 2 โรค เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อกันผ่านการไอ จาม จากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะที่ติดมากับมือหรือผิวสัมผัสต่างๆ ที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์

การป้องกันตนเองที่ดีที่สุด โดยพื้นฐาน จึงเหมือนกับโควิด-19 คือ การล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และการสวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ป้องกันการแพร่เชื้อ ระหว่างกันผ่านฝอยละออง จากการพูด คุย ไอ จาม

 

Avatar photo