Business

เปิดแผล ‘การบินไทย’ เช่าเครื่องโบอิ้ง 787 เตือนแผนฟื้นฟูอย่าพลาดซ้ำ

“สามารถ” เปิดแผล “การบินไทย” เช่าเครื่องบิน “โบอิ้ง 787” มาจอดทิ้ง เพราะเครื่องยนต์เสียยกชุด เตือนคนทำแผนฟื้นฟู “การบินไทย” อย่าพลาดซ้ำ

sama

วันนี้ (25 พ.ค.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กบัญชี ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ถึงปัญหาการเช่าเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 787 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 8 ลำว่า

โบอิ้ง 787 หรือ “เจ็ด-แปด-จอด” ?
บทเรียนที่การบินไทยต้องจำ!

การบินไทยหมายมั่นที่จะใช้เครื่องบินโบอิ้ง 787-800 สุดยอดไฮเทคของการประหยัดน้ำมัน มาช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ แต่สุดท้ายกลับสร้างปัญหาให้ต้องผวามาจนถึงทุกวันนี้

โบอิ้ง 787-800 เป็นเครื่องบินที่ถูกสร้างจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทำให้ช่วยลดการใช้น้ำมันได้เป็นอย่างดี เครื่องบินรุ่นนี้ของการบินไทยมีความจุ 256 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 22 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 234 ที่นั่ง

โบอิ้ง 787-800 ลำแรกเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 แต่การบินไทยได้จัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 (หรือ 2014) เพื่อให้ตรงกับเลข 787 นั่นคือวันที่ 7 เดือนสิงหาคมหรือเดือน 8 และปี 2014 ซึ่งรวมกันได้เท่ากับ 7 ถึงเวลานี้การบินไทยได้เช่าโบอิ้ง 787-800 เป็นจำนวนทั้งหมด 6 ลำ

การบินไทย 8

ที่มา “เจ็ด-แปด-จอด”

โบอิ้ง 787-800 ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบินไทยใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์กับโบอิ้ง 787-800 ทุกลำ แต่ใช้งานได้ไม่นานเครื่องยนต์เกิดขัดข้อง ต้องถอดเครื่องยนต์ออกและส่งไปซ่อมที่ศูนย์ซ่อมโรลส์-รอยซ์ ประเทศสิงคโปร์ เครื่องบินรุ่นนี้ที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์เหมือนกัน มีปัญหาทุกลำและทุกสายการบิน ทำให้ต้องรอคิวเข้าซ่อมนานมาก ระหว่างรอคิวซ่อมจึงต้องจอดเครื่องบินไว้เฉยๆ เป็นเวลานานมาก

ถึงวันนี้การบินไทยมีโบอิ้ง 787-800 ที่จอดรอการซ่อมอยู่ 2 ลำ จอดมานานกว่า 1 ปีแล้ว ลำหนึ่ง (รหัส HS-TQD) ถูกลากไปจอดไว้บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ใกล้ๆ กับตำแหน่งที่จะสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ส่วนอีกลำหนึ่ง (รหัส HS-TQC) ถูกลากไปจอดไว้บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเทอร์มินัล 1 ใกล้ๆ กับอาคารเทียบเครื่องบิน C (Concourse C)

โบอิ้ง 787-800 ทั้ง 6 ลำดังกล่าว การบินไทยเช่ามาเป็นเวลา 12 ปี โดยเสียค่าเช่าเดือนละประมาณ 36 ล้านบาทต่อลำ หรือวันละประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อลำ ลองคิดดูว่าถึงวันนี้การบินไทยต้องเสียหายไปมากเท่าไหร่แล้ว

86735

เช่าเพิ่มอีก 2 ลำ

แต่อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังไม่เข็ดกับโบอิ้ง 787 เพราะหลังจากนั้นไม่นานการบินไทยได้เช่าโบอิ้ง 787-900 ซึ่งมีความจุมากกว่าโบอิ้ง 787-800 (โบอิ้ง 787-900 มีความจุ 298 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 30 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 268 ที่นั่ง) และสามารถบินได้ไกลกว่าโบอิ้ง 787-800 มาเสริมฝูงบินอีก 2 ลำ โดยวางแผนที่จะใช้บินตรงไปสู่ลอสแอนเจลิสหรือซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคาดว่าจะช่วยทำให้ต้นทุนการบินถูกกว่าการใช้เครื่องบินแอร์บัส A340-500 ที่การบินไทยเคยใช้บินตรงไปสู่นิวยอร์กและลอสแอนเจลิสแล้วขาดทุน จนต้องเลิกบินแล้วจอดเครื่องบินทิ้งไว้ที่สนามบินอู่ตะเภามานานจนถึงทุกวันนี้

การบินไทยรับมอบโบอิ้ง 787-900 ในปี 2560 แต่ก่อนรับมอบ การบินไทยได้ส่งช่างไปฝึกอบรมที่ Boeing Flight Services เมืองซีแอตเทิลในปี 2559 เพื่อเรียนรู้วิธีการซ่อมบำรุงลำตัวอากาศยานซึ่งใช้วัสดุพิเศษ ช่างคนหนึ่งที่ไปฝึกอบรมยังได้บอกกับครูผู้สอนประจำศูนย์ฝึกอบรมด้วยความภูมิใจว่า สายการบินไทยจะกลับมาที่ซีแอตเทิลแล้วนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มาทั้งซีแอตเทิลและลอสแอนเจลิสตามที่วางแผนไว้ เพราะผู้บริหารของการบินไทยเปลี่ยนใจเอาโบอิ้ง 787-900 บินไปสู่โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์บ้าง ยุโรปบ้าง ความฝันที่จะไปอเมริกาก็หายวับไปกับสายลม ครูฝรั่งคนนั้นคงนั่งขำพวกช่างเหล่านั้น และไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไรกับผู้บริหารของการบินไทยที่ไม่นำเครื่องบินไปใช้ให้คุ้มค่าตามแผนที่วางไว้

การบินไทยใช้โบอิ้ง 787-900 ทั้ง 2 ลำ ได้ไม่นาน ก็ประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องเช่นเดียวกันกับโบอิ้ง 787-800 แต่ได้รับการซ่อมเรียบร้อยแล้ว

การบินไทย มุสลิม

ในอดีตโบอิ้ง 787 เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนการบินไทย แต่ในปัจจุบันคนการบินไทยบางคนโดยเฉพาะฝ่ายช่างและกัปตันกลับเรียกขานเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจ็ด-แปด-จอด” เนื่องจากบินได้ไม่นานก็ต้องจอดอยู่กับที่

บทเรียนจากโบอิ้ง 787-800 และโบอิ้ง 787-900 เป็นบทเรียนที่การบินไทยต้องจำ ผมขอฝากบทเรียนนี้ไปยังผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหล่านี้กับการบินไทยอีก”

Avatar photo