Business

ร้านอาหารออนไลน์เทรนด์แรง! 2ปีโตเท่าตัวมูลค่า‘แสนล้าน’

ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารทุกประเภทวันนี้ มีจำนวนกว่า 4 แสนร้านค้า แบ่งเป็น สตรีทฟู้ด 3 แสนร้านค้า และภัตตาคาร 1 แสนร้านค้า แต่เทรนด์ที่มาแรงคงต้องยกให้  “ร้านอาหาร ออนไลน์” ทั้งที่มาจากร้านอาหารเดิมขยายเซอร์วิสออนไลน์ และร้านออนไลน์ ที่เริ่มต้นขายผ่านหน้าร้านโซเชียล มีแนวโน้มผุดขึ้นต่อเนื่องทั้งหน้าร้านเฟซบุ๊ก ไอจี ไลน์   สื่อโซเชียล ยอดนิยม หลายรายประสบความสำเร็จสร้างรายได้หลัก “ร้อยล้าน” ต่อปี

FHT1
ฐนิวรรณ กุลมงคล

ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่าจากจำนวนร้านอาหารทุกประเภทราว 4 แสนร้านค้า ธุรกิจนี้สร้างมูลค่า  7 แสนล้านบาทต่อปี  แบ่งเป็นสตรีทฟู้ด 2 แสนล้านบาท และกลุ่มภัตตาคาร 5  แสนล้านบาท ธุรกิจร้านอาหารเติบโตทุกปี ไม่ต่ำกว่า 5% จากปัจจัยหลัก การปรับราคาของสินค้าที่ขยับเพิ่มทุกปี

ร้านอาหารออนไลน์มาแรง

แต่เทรนด์ที่มาแรงในช่วง 2 ปีนี้ คือ ร้านอาหารออนไลน์  ไร้หน้าร้านให้นั่งรับประทาน มีเพียงหน้าร้านออนไลน์ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไว้แสดงสินค้า รับออเดอร์  มีครัวกลางและระบบส่งสินค้า เป็นรูปแบบการลงทุนไม่สูง และหากได้รับความนิยม สามารถขยายธุรกิจเพิ่มครัวและระบบส่ง

ด้วยจำนวนผู้ใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ที่เพิ่มขึ้นสูง อีกทั้งคนรุ่นใหม่ต้องการความสะดวกสบายในการรับประทานอาหาร  “ฟู้ด เดลิเวอรี่” จึงเข้ามาตอบโจทย์นี้  ทำให้รูปแบบการลงทุนร้านอาหารในยุคนี้เปลี่ยนไป

“เราจะเห็นตัวอย่างร้านอาหารออนไลน์ ที่มีไอเดียและจุดขายดึงดูดลูกค้า ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางรับออเดอร์และทำการตลาดมากขึ้น หลายร้านประสบความสำเร็จ สร้างยอดขายหลักร้อยล้านต่อปี เช่น เจคิว ปูม้านึ่ง ที่ทำยอดขายกว่า 600 ล้านบาทต่อปี”

เจาะลายแทง เจคิว ปูม้านึ่ง พันล้าน
เจคิว ปูม้านึ่ง delivery

ในอดีตภัตตาคารและร้านอาหารที่สร้างชื่อเสียงความอร่อยจนเป็นที่รู้จัก ต้องใช้ระยะเวลาสั่งสมการทำงานมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี จึงเรียกว่าประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและรายได้ แต่วันนี้คนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย สร้างธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จ ใช้เวลาเพียง 3 ปี ทำรายได้หลักร้อยล้านบาทต่อปี โดยไม่ต้องลงทุนหน้าร้านที่ถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจร้านอาหาร และหากลงทุนไปแล้วไม่มีลูกค้าเข้าร้านและสายป่านสั้นก็ต้องปิดตัวลงใน 3 เดือน

ร้านอาหารออนไลน์มูลค่า“แสนล้าน”

ฐนิวรรณ กล่าวว่าปัจจุบันผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหาร ที่มีหน้าร้าน ได้ขยายบริการฟู้ด เดลิเวอรี่ เพื่อให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้น   ขณะที่ฝั่งร้านอาหารออนไลน์ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าจากของธุรกิจนี้เติบโตสูง  ประเมินว่าปีนี้ร้านอาหารออนไลน์ มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท  และจากแนวโน้มผู้บริโภคใช้บริการเพิ่มขึ้น  ร้านอาหารขยายบริการออนไลน์  บริการด้านฟู้ด เดลิเวอรี่ เติบโต  คาดว่าภายใน 2 ปีนี้ หรือปี 2563 ร้านอาหารออนไลน์จะเติบโต “เท่าตัว” มีมูลค่าแตะ 1 แสนล้านบาท

FHT

ปัจจุบันธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว  โดยพบว่าการใช้จ่ายที่เกิดจากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ  เป็นสัดส่วนของธุรกิจร้านอาหาร 20-25%  จะเห็นได้ว่า เมนู อาหารไทยติดอันดับความอร่อยระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ต้มยำกุ้ง ส้มตำ มัสมั่น  แกงเขียวหวาน  เป็นต้น  เป็นเมนูไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวต้องการมาชิมความอร่อย ธุรกิจร้านอาหาร จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวสร้างรายได้

พบว่าประเภทอาหารยอดนิยมของคนไทย อันดับต้นๆ จะอยู่ในกลุ่ม ชาบู, ปิ้งย่าง,อาหารอีสาน,อาหารประเภทเส้น

FHT เงินสะพัด 5 พันล้าน

ทางด้าน จัสติน พาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมของไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดีจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าตลอดทั้งปีจะสูงถึง 35  ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึง 13.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เติบโต 30%

FHT4
จัสติน พาว

ยูบีเอ็ม เอเชีย ในฐานะผู้จัดงานฟู้ดแอนด์โฮเทล ไทยแลนด์ 2018  หรือ FHT ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยี ด้านอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์ เครื่องใช้ในโรงแรม ภัตตาคาร การจัดเลี้ยง และการบริการนานาชาติ มองว่าจากปัจจัยการเติบโตด้านการท่องเที่ยวและความสนใจเข้าร่วมชมงานของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งไทยและอาเซียน คาดว่าการจัดงานฟู้ดแอนด์โฮเทลฯ ระหว่างวันที่ 5-8 กันยายนนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค  คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าและการเจรจาธุรกิจประมาณ 5,000 ล้านบาท

โดยได้มีการขยายพื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้น 20% เป็น 1.8 หมื่นตร.ม. เพื่อรองรับผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และ การบริการทั้งในและต่างประเทศกว่า 400 ราย 1,500 แบรนด์ จาก 33 ประเทศทั่วโลกที่สนใจเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ มีการจัดแสดงสินค้าพาวิลเลี่ยนนานาชาติ   คือ จีน อิตาลี ญี่ปุ่น โปแลนด์ และ แอฟริกาใต้ สำหรับพาวิลเลี่ยนใหม่ในปีนี้ประกอบด้วย อิตาลี พาวิลเลี่ยน , โปแลนด์ พาวิลเลี่ยน และ 2 พาวิลเลี่ยนจากโอซากา และ ไทโตะ  ประเทศญี่ปุ่น

Avatar photo